ในปี พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเร่งรัดให้กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างพื้นที่ชลประทานบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล เพื่อเป็นแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล แต่เนื่องจากระยะเวลาจำกัด จึงมีการเสนอแผนงานก่อสร้าง และปรับปรุงสถานีสูบน้ำขนาดเล็ก ขนาดพื้นที่ชลประทาน 1,000 – 3,000 ไร่ จำนวน 61 แห่ง ต่อมาประชาชนเริ่มเห็นความสำคัญของการชลประทานเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ได้เห็นตัวอย่างจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ประสบผลสำเร็จ จึงได้ร้องขอให้มีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและระบบชลประทานเพิ่มเติม
กรมชลประทาน จึงได้เห็นชอบแผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่ชลประทานบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนล่าง เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556 และเห็นควรดำเนินการเร่งรัดพัฒนาพื้นที่ชลประทานจากการทดน้ำของ เขื่อนปากมูลให้มีศักยภาพเต็มที่ โดยมีแนวทางในการพัฒนาทั้งสิ้น 4 แผน โดยในส่วนของแผนงานที่ 2 ได้แก่ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำขนาดกลาง จำนวน 24 แห่ง กรมชลประทานได้มอบหมายให้ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 7 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ รับผิดชอบโครงการก่อสร้าง สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำมูลตอนล่างทั้งหมด เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 จำนวน 13 สถานี และเมื่อพิจารณาตามความเร่งด่วน สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เห็นว่า โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมระบบส่งน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าคำสมิง (PR-4) สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแพง (PR-5) และสถานีสูบน้ำ ด้วยไฟฟ้าบัวท่า (PR-7) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าฮ่องอ้อ มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องก่อสร้างสถานีสูบน้ำเป็นลำดับแรกๆ
กรมชลประทาน จึงได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้า IESPD JV สำรวจและออกแบบ ทั้ง 3 โครงการ ในงานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการพัฒนาพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำมูลตอนล่างฝั่งขวา (ระยะที่ 1) จังหวัดอุบลราชธานี มีระยะเวลาดำเนินงาน 300 วัน โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2566 โดยสรุปผลการสำรวจออกแบบ ดังนี้
โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าคำสมิง (PR-4) ตั้งอยู่ลำน้ำโดมใหญ่ บ้านคําสมิง ต.สว่าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 3 เครื่อง มีอัตราการสูบน้ำรวมประมาณ 0.50 ลูกบาศก์เมตร/วินาที พร้อมระบบกระจายน้ำให้พื้นที่ โดยกระจายน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกฤดูฝนประมาณ 5,700 ไร่ และพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งประมาณ 2,400 ไร่ ในพื้นที่บางส่วนของ ตำบลสว่าง
โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแพง (PR-5) ตั้งอยู่ลำน้ำมูล บ้านแพง ต.สว่าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 5 เครื่อง มีอัตราการสูบน้ำประมาณ 2.00 ลูกบาศก์เมตร/วินาที พร้อมระบบกระจายน้ำให้พื้นที่ โดยกระจายน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกฤดูฝนประมาณ 30,000 ไร่ และพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งประมาณ 19,000 ไร่ ในพื้นที่บางส่วนของ ตำบลสว่าง ตำบลแก่งโดม และตำบลบุ่งมะแลง
โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าฮ่องอ้อ (PR-7) ตั้งอยู่ลำน้ำมูล บ้านฮ่องอ้อ ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 6 เครื่อง มีอัตราการสูบน้ำโดยประมาณ 3.00 ลูกบาศก์เมตร/วินาที พร้อมระบบกระจายน้ำให้พื้นที่ โดยกระจายน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกฤดูฝนประมาณ 35,600 ไร่ และพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งประมาณ 25,600 ไร่ ในพื้นที่บางส่วนของ ตำบลท่าช้าง ตำบลบุ่งมะแลง ตำบลบุ่งไหม และตำบลคำขวา