พลิกโฉมหน้าใหม่คมนาคมไทยใน 20 ปี กับวิสัยทัศน์ “มุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืน” (2)

 

ฉบับที่แล้ว เราได้นำเสนอการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งระยะ 20 ปี เพื่อเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยให้มีทิศทางที่ชัดเจน ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบให้ทุกกระทรวงจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขึ้นเพื่อกำหนดกรอบทิศทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่การเป็นประเทศที่ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มีความต่อเนื่อง สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งจากภายนอกและภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้เร่งจัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ขึ้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนางานด้านคมนาคมขนส่งในทุกมิติอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ มุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านการขนส่งและการเดินทาง ช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การบูรณาการระบบคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาระบบรางเชื่อมต่อท่าอากาศยาน และท่าเรือ การบริหารจัดการเส้นทางรถประจำทาง เป็นต้น

Advertisement

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การบริการของภาคคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวกในการขนส่งสินค้าและการเดินทาง พร้อมทั้งการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น การพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า การพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินเท้า การขับขี่จักรยาน เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย และปฏิรูปองค์กร ได้แก่ การปรับโครงสร้างองค์กร การบังคับใช้กฎหมาย การให้เอกชนมีส่วนร่วม เช่น การเร่งรัดจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เพื่อกำกับดูแลและพัฒนาด้านการขนส่งทางราง การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้านการเดินอากาศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาบุคลากร ได้แก่ การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบิน ด้านพาณิชย์นาวี การจัดตั้งสถาบันการพัฒนาฝึกอบรมบุคลากรด้านการขนส่ง

Advertisement

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การส่งเสริมวิจัยและพัฒนา การนำเทคโนโลยี นวัตกรรมประยุกต์ใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

และเพื่อทำให้การดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมประสบความสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ในระยะเวลา 20 ปี จึงได้มีการแบ่งระยะเวลาการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ระยะละ 5 ปี ดังนี้

ระยะที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 เน้นการแก้ไขปัญหาพื้นฐานเร่งด่วนด้านคมนาคมขนส่ง และเร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในส่วนที่ไม่สมบูรณ์หรือเป็นคอขวดตามแนวเส้นทางหลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่ง เช่น การแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเมืองหลักในภูมิภาค เร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งในเมืองหลักในภูมิภาค การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน การพัฒนาระบบรางระหว่างเมืองเพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร การพัฒนาระบบขนส่งที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเพิ่มการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน เป็นต้น

สำหรับการพัฒนาในระยะแรกนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งผลักดันให้มีการลงทุนต่อเนื่องเพิ่มเติมในหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเสร็จแล้วที่ต้องเร่งปฏิบัติตามแผนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์มีความต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบด้วยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า, รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 , ท่าเรือน้ำลึก และทางหลวงพิเศษ หรือมอเตอร์เวย์ ระยะที่ 2 ตามแผนแม่บท เป็นต้น

ระยะที่ 2 พ.ศ. 2565 – 2569 มุ่งเน้นบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้มีความครอบคลุม ทั่วถึง และปลอดภัย เช่น เร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งในเมืองหลักในภูมิภาค พัฒนาระบบความปลอดภัยทางถนน มีเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรแสนคนในปี พ.ศ. 2563 ส่งเสริมเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งให้สูงขึ้น โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง เป็นต้น

ระยะที่ 3 พ.ศ. 2570 – 2574 การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาระบบขนส่งที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะให้ใช้พลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เป็นต้น

ระยะที่ 4 พ.ศ. 2575 – 2579 การพัฒนาและส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพการให้บริการระบบขนส่งทุกรูปแบบให้เป็นมาตรฐานสากล ปรับปรุงบทบาทองค์กร กฎหมาย และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านคมนาคมขนส่ง

นับเป็นทิศทางในการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งในอนาคตระยะ 20 ปี ที่จะเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รองรับการเปลี่ยนแปลงของเมืองและโครงสร้างประชากร ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ โดยคำนึงถึงลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยุทธศาสตร์เหล่านี้ จะเป็นปฏิบัติการที่พลิกโฉมหน้าใหม่ของคมนาคมไทยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตครั้งใหญ่ในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image