TPQI – HRDK เตรียมขยายความร่วมมือ ยกระดับกำลังแรงงานไทย

TPQI – HRDK เตรียมขยายความร่วมมือ ยกระดับกำลังแรงงานไทยในสาธารณรัฐเกาหลี ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. นำโดย นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และนายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หารือร่วมกับ Mr. Lim Jaegeum Commissioner of the Environment and Labor Committee of the National Assembly และผู้อำนวยการ Human Resources Development Service of Korea (HRDK) สังกัดกระทรวงการจ้างงานและแรงงาน เพื่อหารือถึงแนวทางการขยายความร่วมมือระหว่างสองประเทศ และสร้างการยอมรับในประสบการณ์ และความสามารถของแรงงานไทย

นางสาวจุลลดา กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และ HRDK ได้มีความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ของทั้งสองประเทศในกรอบ MOU on Mutual Recognition of Skills and Professional Qualifications โดยวางแผนสนับสนุนให้ผู้ที่ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ มีโอกาสเพิ่มขึ้นในการไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี โดยลดขั้นตอนการทดสอบหรือมีเงื่อนไขในการคัดเลือกเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามสถาบัน คาดหวังว่าอยากให้สถานประกอบการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของสาธารณรัฐเกาหลี ได้มีการออกเอกสารหลักฐานรับรองทักษะในการทำงานให้คนไทย เพื่อนำมาเทียบโอนประสบการณ์ และรับรองคุณวุฒิวิชาชีพในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงได้งานที่ดีขึ้น ได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อกลับมาที่ประเทศไทย อันจะทำให้การทำงานร่วมกัน ในการส่งเสริมให้แรงงานไทยที่กลับจากสาธารณรัฐเกาหลีสามารถช่วยพัฒนาประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น โดยได้นำร่องในอาชีพช่างก่ออิฐและฉาบปูนไปแล้ว มีการเทียบมาตรฐานอาชีพ และ TPQI คิดว่า Certificate of Career ที่แรงงานไทยได้รับจาก HRDK และสัญญามาตรฐานการจ้างงานที่แรงงานไทยได้รับจากนายจ้างเกาหลีก็เป็นเอกสารส่วนหนึ่งที่นำมาเทียบโอนประสบการณ์ได้

นอกจากนี้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีแนวทางการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่พร้อมจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการเชื่อมโยงกับภาคการศึกษา อย่างเครือข่ายอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ในการทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ จากมาตรฐานอาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้อง ไปปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกัน ซึ่งจะทำให้นักเรียน นักศึกษา ที่จบการศึกษาในหลักสูตรฐานสมรรถนะนั้นๆ จะได้รับทั้งวุฒิทางการศึกษา และคุณวุฒิวิชาชีพไปพร้อมกัน ขณะเดียวกัน สถาบัน ได้มีการทำงานกับ Training Provider และหน่วยฝึกอบรมต่างๆ ที่มีการยึดโยงชุดฝึกอบรมตามมาตรฐานอาชีพของ สคช. เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมดังกล่าวนั้น สามารถทำงาน และตรงตามความต้องการของผู้ว่าจ้างได้จริง ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับกำลังคนในการก้าวสู่ตลาดแรงงานทั้งในประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลีต่อไป

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image