เจษฎาเทคนิคมิวเซียม ถือฤกษ์ดี ย้ายเรือหลวง 2 ลำ เชื่อมั่นเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดีของนครปฐม

เจษฎาเทคนิคมิวเซียม ถือฤกษ์ดี ย้ายเรือหลวง 2 ลำ เชื่อมั่นเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดีของนครปฐม

วันที่ 29 มีนาคม ดร.ภาคภูมิ เดชสกุลฤทธิ์ กรรมการบริหารมูลนิธิเจษฎาเทคนิคมิวเซียม เปิดเผยว่า ตนและคณะที่ปรึกษามูลนิธิเจษฎาเทคนิคมิวเซียม กำหนดที่จะทำการย้ายเรืออุดมเดช และเรือ ต.93 ขึ้นแท่นจัดแสดงเรือ ในวันอังคารที่ 2 เม.ย. และวันพุธที่ 3 เม.ย. โดยถือฤกษ์งามยามดี เวลา 09.09 น. จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการบูรณะซ่อมแซมให้มีความสง่างามสมเกียรติกับเรือรบของราชนาวีไทยต่อไป

ดร.ภาคภูมิ กล่าวว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงสุดที่กองทัพเรือ ได้กรุณามอบเรืออันทรงคุณค่าที่ปลดประจำการแล้วทั้งสองลำ ได้แก่ เรืออุดมเดช และเรือ ต.93 ให้กับมูลนิธิเจษฎาเทคนิคมิวเซียม ซึ่งถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ยานพาหนะโบราณที่บริหารงานโดยภาคเอกชน เพื่อนำไปจัดแสดงแก่ประชาชนทั่วไป โดยมูลนิธิเจษฎาเทคนิคมิวเซียมได้ทำการเคลื่อนย้ายเรืออุดมเดชจากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ มายังเจษฎาเทคนิคมิวเซียมแห่งใหม่ ในวันที่ 19 เมษายน 2562 และเรือ ต.93 เคลื่อนย้ายมาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 โดยจอดไว้เป็นการชั่วคราว ณ โซนเรือรบ ซึ่งการลากจูงเคลื่อนย้ายเรือเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทุลักทุเล แต่ก็ได้รับกำลังใจจากพี่น้องประชาชนสองฝั่งแม่น้ำนครชัยศรี มารอชมและโบกไม้โบกมือทักทายให้การต้อนรับตลอดเส้นทาง

Advertisement

เรืออุดมเดชเป็นเรือสังกัดอยู่ในชุดเรือหลวงราชฤทธิ์ ประกอบไปด้วย ร.ล.ราชฤทธิ์ หมายเลข 321, ร.ล.วิทยาคม หมายเลข 322 และ ร.ล.อุดมเดช หมายเลข 323 กองทัพเรือได้มีโครงการจัดหาในปี พ.ศ.2519 ใช้งบประมาณจากค่าสัมปทานสำรวจน้ำมันในทะเลบวกกับงบประมาณประจำ มีชื่อโครงการว่า “การจัดหาเรือคุ้มครองการสำรวจน้ำมันทางทะเล” ต่อโดยบริษัท Cantiere Navale Breda ประเทศอิตาลี

Advertisement

เรือหลวงอุดมเดชขึ้นระวางประจำการปี พ.ศ.2523 เป็นประเภทเรือยนต์เร็วโจมตีอาวุธ เป็นเรือซึ่งมีขีดความสามารถสูง มีอาวุธนำวิถี MM38 หรือ EXOCET สามารถทำลายข้าศึก วิ่งหาเป้าได้ในระยะ 40 กม. มีปืนหัวเรือ OTO MERALA ยิงได้เร็ว 85 นัดต่อนาที ถือเป็นเขี้ยวเล็บที่สำคัญของกองทัพเรือไทย

ส่วนเรือ ต.93 คือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ลาดตระเวนทางทะเล เรือลำแรกในตระกูลนี้คือ เรือ ต.91 ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้กองทัพเรือสร้างเรือขึ้นมาเองและทรงพระราชทานคำแนะนำ ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆ อันเกิดจากกระบวนการต่อเรือ ทั้งยังทรงตรวจแก้ข้อผิดพลาดต่างๆ จนทำให้การต่อเรือสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จนมีคำกล่าวว่าเป็น “เรือของพ่อ” นับจากนั้นกองทัพเรือได้ดำเนินการต่อเรือในชุด ต.91 เพิ่มเติมอีกคือ ต.92, ต.93, ต.94, ต.95, ต.96, ต.97, ต.98 และ ต.99

เนื่องจากในช่วงระหว่างปี 2564-2565 พื้นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก ประกอบกับมีการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การดำเนินการต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ต้องหยุดลงชั่วคราว และเมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย ทางพิพิธภัณฑ์ได้เริ่มก่อสร้างอาคารจัดแสดงเพิ่มเติม มีการปรับภูมิทัศน์ภายนอกให้ร่มรื่นสวยงาม และจะทำการย้ายเรือหลวงอุดมเดชและเรือ ต.93 ไปไว้ที่จุดจัดแสดงตามแบบแปลนที่กำหนดไว้ ซึ่งไม่ได้ห่างจากจุดจอดเรือชั่วคราว ถึงแม้จะทำการย้ายเรือทั้งสองลำไปไม่ไกลจากจุดจอดชั่วคราว แต่ทางพิพิธภัณฑ์ต้องใช้งบประมาณที่มากพอสมควร และทำการย้ายเรือในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยจุดจัดแสดงเรืออุดมเดชและเรือ ต.93 อยู่กึ่งกลางระหว่างอาคารธัญญาและอาคารชมเพลิน ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารฝาแฝดในพื้นที่ของเจษฎาเทคนิคมิวเซียมแห่งใหม่

การดำเนินการเคลื่อนย้ายเรือเข้าประจำจุดจัดแสดงได้ทำตามกระบวนการที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งต้องขอขอบคุณสำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากก๊วนตัวตึงเตรียมทหาร รุ่น 10 (รุ่นเดียวกับนายกทักษิณ ชินวัตร) ในฐานะคณะที่ปรึกษามูลนิธิเจษฎาเทคนิคมิวเซียม โดยเฉพาะ พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ พุกกะรัตน์ พล.ร.อ.รพล คำคล้าย รวมถึง พล.อ.วรวิทย์ ชินะนาวิน พล.อ.วุทธิ์ วิมุกตะลพ พล.ท.มนัส เปาริก และพล.ท.บรรพต งามกัณหา โดยมีคุณอภิสิทธิ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ มูลนิธิเจษฎาเทคนิคมิวเซียม เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดวางแบบแปลนและงานทำฐานแท่นจัดแสดงเรือ และที่จะขาดเสียไม่ได้ ขอขอบคุณคุณปรีชา อู่ทอง สำหรับคำแนะนำดีๆ ท่านเป็นคนทำงานภาคเอกชนที่มีความรู้เรื่องเรือรบไม่แพ้ทหารเรือเลยก็ว่าได้

ก่อนหน้านี้ผมได้เปลี่ยนผู้รับเหมาที่จะทำการย้ายเรือเข้าประจำตำแหน่งไปหลายราย เนื่องจากมีราคาที่สูงมากจนเกินไป รวมถึงต้องพิจารณาเรื่องศักยภาพในการทำงานซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมปฏิบัติงานของวิศวกรที่มีใบอนุญาตรับรองด้วย กว่าจะได้รับผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญการซึ่งก็ใช้เวลานานพอสมควร จึงขออภัยในความล่าช้า มา ณ โอกาสนี้

ดังนั้นเมื่อเรือทั้งสองลำมาอยู่ที่เจษฎาเทคนิคมิวเซียมแล้ว เราจึงต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อให้ทุกคนได้ภาคภูมิใจว่ากองทัพเรือไทยมีเรือที่สมรรถนะสูงและมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทางพิพิธภัณฑ์จึงต้องศึกษาประวัติเรือและรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ให้สมบูรณ์เพื่อจะทำให้ผู้มาเยี่ยมชมและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รู้ว่าเรือทั้งสองลำมีความสำคัญอย่างไร รูปร่างเป็นอย่างไร และคาดว่าจะเป็นจุดดึงดูดความสนใจของประชาชนที่จะเข้าชมพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะเยาวชนที่ให้ความสนใจเรื่องเรือรบได้อย่างแน่นอน

“คุณเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ ประธานมูลนิธิเจษฎาเทคนิคมิวเซียม คุณพ่อของผม รวมถึงเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ทุกคนหวังว่าเมื่อเจษฎาเทคนิคมิวเซียมแห่งใหม่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วคงจะมีพี่น้องประชาชน ให้ความสนใจเข้ามาเยี่ยมชมกันเป็นจำนวนมาก และเมื่อน้องๆ หนูๆ เยาวชน ได้มาเห็นเรือทั้งสองลำที่งามสง่า จะได้เป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นทหารเรือรับใช้ชาติบ้านเมืองต่อไป และในระหว่างที่เจษฎาเทคนิคมิวเซียมยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ แฟนคลับทุกท่านสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่สื่อออนไลน์ Page Facebook : Jesada Technik Museum และช่อง Youtube : Jesada Technik Museum” ดร.ภาคภูมิ กล่าวปิดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image