CAT ก้าวสู่ News S-Curve จับมือสองบริษัทชั้นนำจากเกาหลีใต้ เปิดตัว “ทรี เพย์”

จากซ้ายไปขวา 1. คุณสุวิชา นะลิตา CEO บริษัท ทรีเพย์ (ประเทศไทย) จำกัด 2. Mr.Seungkyu Chung , Senior Executive Vice President, NHN KCP 3. Mr. Inhyok Cha , Executive Vice President , IOT Business Division , SK Telecom 4. พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT

CAT ก้าวสู่ News S-Curve จับมือสองบริษัทชั้นนำจากเกาหลีใต้ เปิดตัว “ทรี เพย์” บริการระบบรับชำระเงินครบวงจร ควบคู่พัฒนาเมกะโปรเจค “ภูเก็ต  สมาร์ทซิตี้“ เมืองต้นแบบอัจฉริยะด้วย IoT

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) จัดงานเปิดตัวบริษัทร่วมทุน “ทรี เพย์”  ร่วมกับ SK Telecom และ NHN KCPจากเกาหลีใต้ แถลงพร้อมลุยธุรกิจใหม่ Payment Gateway และ E-Business ครบวงจร   เดินหน้าแผนพัฒนา New S-Curve สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องยั่งยืน เริ่ม Platform IoT นำร่องภูเก็ตสมาร์ทซิตี้  รับนโยบายไทยแลนด์ 4.0   โดยมีผู้บริหารจากหลากหลายธุรกิจเข้าร่วมงานคับคั่ง ณ อาคารโทรคมนาคม CAT Tower บางรัก

หลังจากประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลได้ตั้งเป้ากลไกการขับเคลื่อนด้วยโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคธุรกิจไทย ปฏิรูปประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บริบทหนึ่งคือการพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจในประเทศโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล  พร้อมสนับสนุนให้เปลี่ยนรูปแบบการค้าไปสู่ระบบธุรกิจออนไลน์เต็มรูปแบบ ( e – Business) ตลอดจนขยายฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงระบบการค้าไทยให้เข้ากับระบบการค้าสากล ซึ่งนโยบายดังกล่าวทำให้วงการโทรคมนาคมไทยมีความตื่นตัวในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการทางเทคโนโลยีรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลยุคใหม่ โดย CAT ผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลกอย่าง SK Telecom และ NHN KCP ในรูปแบบการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ซึ่งเป็นการพัฒนาธุรกิจเชิงกลยุทธ์ให้สามารถก้าวสู่ธุรกิจใหม่ด้วยค่าผลความสำเร็จที่สูงกว่า

พันเอกสรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CAT เปิดเผยว่า CAT เรามีการพัฒนาเทคโนโลยีในหลากหลายด้าน ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีบริการด้านเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นบริการสื่อสารข้อมูลและอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เราก็ยังมีการพัฒนาบริการดิจิทัลบนเครือข่ายอื่นๆเพื่อการให้บริการได้แบบครบวงจร ซึ่งจะเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในธุรกิจให้กับ CAT ในระยะยาว โดยวันนี้เราจะสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับวงการสื่อสารโทรคมนาคมไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีไปพร้อมกับผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลก   นั่นหมายถึงเราจะมีระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นในภาพรวมทัดเทียมระดับโลกด้วยเช่นกัน  โดยเราได้จัดตั้งบริษัท ทรี เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ระหว่าง  CAT  ร่วมกับ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ SK Telecom ซึ่งมีธุรกิจหลากหลายรูปแบบ ทั้งธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม, e – Commerce ,  Digital Contents และ NHN KCP บริษัทผู้นำด้านธุรกิจ e – Commerce,   e – Payment รายใหญ่จากประเทศเกาหลีใต้ โดยได้จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 200 ล้านบาท”

Advertisement

ด้านคุณ สุวิชา นะลิตา CEO บริษัท ทรี เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “ทรี เพย์ นำเสนอบริการระบบรับชำระเงินที่คลอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจในประเทศไทย จากความเชี่ยวชาญอันยาวนานของกลุ่ม   ผู้ถือหุ้น ทรี เพย์ มุ่งไปสู่การให้บริการโดยเน้นเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และการปฏิบัติจริงในธุรกิจรับชำระเงิน ก้าวไปสู่การให้บริการที่สมบูรณ์แบบ มีความคล่องตัวและรวดเร็วในทุกกระบวนการ นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและทิศทางของภาครัฐ

นอกจากนี้ ทรี เพย์ ยังเสนอการวิเคราะห์ข้อมูล การบริหารความเสี่ยง และยังได้รับมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัย (PCI) พร้อมISO 27001 ในระบบการจัดเก็บข้อมูล“ทรี เพย์ นำเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในตลาดมาให้บริการ เพื่อนำเสนอระบบรับชำระเงินที่ได้รับความไว้วางใจ และยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของคู่ค้า” คุณ สุวิชา นะลิตา กล่าวเพิ่มเติม

“ด้วยระบบการชำระเงินของ ทรี เพย์ ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ในการยกระดับธุรกิจไทยให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเกิดขึ้น อันจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) และผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งจะสามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างรวดเร็ว จึงนับว่า ทรี เพย์ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของระบบธุรกรรมทางการเงิน ที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปยังจุดที่พัฒนาระบบการค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังทำให้เกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีชั้นนำของเอเชีย” พันเอก สรรพชัยฯ กล่าวเพิ่มเติม

นอกเหนือจากการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ทรี เพย์ เพื่อการขยายธุรกิจ e-Business แล้ว CAT และ SK Telecom ยังได้ร่วมกันพัฒนาPlatform IoT ให้ภูเก็ตก้าวสู่ความเป็น Smart City อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งต่อเนื่องมาจากการที่รัฐบาลได้เปิดโครงการ “ภูเก็ต สมาร์ท ซิตี้”  เพื่อส่งเสริมให้จังหวัดภูเก็ต เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบและสมาร์ท สตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศตามกรอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0  ซึ่งหลายหน่วยงานได้พยายามร่วมกันขับเคลื่อนโดยตั้งเป้าให้เกิด “ภูเก็ต สมาร์ท ซิตี้” อย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2563

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย CAT เปิดเผยว่า CAT  ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ดูแลในส่วนของการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมให้กับโครงการดังกล่าว เราได้ร่วมมือพันธมิตรบริษัท SK Telecom ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมชั้นนำจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีประสบการณ์ในการพัฒนา Platform IoT ระดับโลก และมีความพร้อมทั้งด้านการออกแบบและวางระบบดังกล่าว  เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงพัฒนาระบบโครงสร้างโทรคมนาคมและ IoT Platform ในจังหวัดภูเก็ต ภายใต้โครงการ “ภูเก็ต สมาร์ท ซิตี้” ซึ่งจะมาจะพลิกโฉมจังหวัดภูเก็ต ให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบแห่งแรกในประเทศไทย”

Mr. Inhyok Cha, Executive Vice President, IOT Business Division SK Telecom กล่าวว่า IoT  Platform ที่ CAT และ SK Telecom จะร่วมมือกันติดตั้งระบบเมืองอัจฉริยะให้กับโครงการ ภูเก็ต สมาร์ทซิตี้ เบื้องต้นจะมี 3 รูปแบบ ได้แก่ Asset Tracking ระบบการติดตาม ซึ่ง ประกอบไปด้วย Eco Bike อุปกรณ์ติดตั้งที่สามารถเชื่อมต่อกับจักรยานทุกคันที่ลงทะเบียนในระบบ  ทำให้สามารถติดตามโลเคชั่นแบบเรียลไทม์และจัดการได้อย่างเป็นระบบ รวมถึง Safe Watch นาฬิกาข้อมืออัจฉริยะที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน สามารถติดตามโลเคชั่นของผู้ที่สวมใส่ได้แบบเรียลไทม์เช่นกัน ซึ่งจะมีระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดอุบัติเหตุและการแจ้งติดต่อขอความช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน”

“รูปแบบที่สอง ได้แก่ AMI Service ระบบมิเตอร์อัจฉริยะที่จะถูกนำไปติดตั้งกับมิเตอร์ต่างๆ อาทิ มิเตอร์น้ำ มิเตอร์ไฟ ซึ่งจะสามารถเก็บข้อมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างง่ายดาย รวมไปถึงการติดตามสถานะ การจัดการและควบคุมได้ผ่านเครือข่าย ซึ่งนอกจากจะทำให้มีการเก็บสถิติการใช้อย่างเป็นระบบแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงการชำระค่าบริการผ่านระบบ e- Payment ได้อีกด้วย และรูปแบบที่สามคือSmart City Service บริการต่างๆ ที่ประกอบไปด้วย Smart Light อุปกรณ์และระบบที่จะนำไปติดตั้งพร้อมสวิตซ์ไฟต่างๆภายในเมือง อาทิ ไฟจราจร ไฟถนน หรือแม้กระทั่งกล้อง CCTV โดยนอกจากจะสามารถควบคุมได้ผ่านเครือข่ายแล้ว ยังมีเซนเซอร์ที่ควบคุมการใช้ฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการใช้ไฟฟ้า ประหยัดพลังงานได้มากยิ่งขึ้น รวมถึง Smart Manhole หรือ ระบบสุขาภิบาลอัจฉริยะ โดยมีการวางระบบสนับสนุนด้านความปลอดภัย อาทิ การติดตั้งเซนเซอร์เพื่อตรวจจับอุณหภูมิ ความชื้น แก๊ส ไฟ ผ่านท่อระบายน้ำ เพื่อวิเคราะห์และป้องกันเหตุที่เกี่ยวข้องได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งสำหรับการวาง IoT  Platform ต่างๆ เหล่านี้  SK Telecom จะเป็นผู้ติดตั้งอุปกรณ์และระบบการเชื่อมต่อ รวมถึงระบบที่สนับสนุนอื่นๆ และ CAT จะดูแลในส่วนของระบบเครือข่าย การโอเปอร์เรชั่น (Operation) และการพัฒนาบริการในรูปแบบต่างๆ”

“ความร่วมมือในการวาง IoT  Platform ระหว่าง CAT กับ SKT ในครั้งนี้ จะเป็นการปฏิวัติรูปแบบการใช้ชีวิตของนักท่องเที่ยวและประชาชนในจังหวัดภูเก็ตให้ก้าวสู่การเป็น Smart Life อย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิด 6 ด้าน ได้แก่ Smart Economy เมืองที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ, Smart Environment เมืองประหยัดพลังงาน, Smart Governance เมืองที่บริหารจัดการโปร่งใส, Smart Living เมืองน่าอยู่, Smart Mobility ติดต่อสื่อสารระหว่างกันสะดวกสบาย และSmart People เมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และคนสูงอายุ” ดร.ดนันท์ กล่าวเพิ่มเติม

นับเป็นการพลิกโฉมธุรกิจโทรคมนาคมไทย และเป็นที่น่าจับตาสำหรับ CAT และ SK Telecom  ที่จะมีการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ หรือ New S-Curve เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและธุรกิจไทยในอนาคตต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image