4 คำถาม- ตอบ ทำความเข้าใจโครงการรถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ไทย – จีน

 

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวทางโซเชียลและสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน จนอาจทำให้ประชาชนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อแนวทาง วิธีการ ดำเนินโครงการดังกล่าว กระทรวงคมนาคม ได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริง ตลอดจนแนวทางวิธีการดำเนินโครงการระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ โดยจำแนกเป็นเรื่องที่ประชาชนตั้งคำถาม ออกมาเป็น 4 ข้อ ดังนี้

  1. ทำไมถึงต้องพึ่งพาการออกแบบ บุคลากรการออกแบบ และประสบการณ์การทำงานจากบุคลากรต่างประเทศ ?

จากที่รัฐบาลทั้งสองประเทศได้มีความร่วมมือในการที่จะพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา – หนองคาย โดยดำเนินงานในช่วงแรกได้แก่ เส้นทางจากกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงกับ สปป.ลาว และเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟจีนต่อไปยังยุโรป เนื่องจากบุคลากรที่มีอยู่ของไทย ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการออกแบบรายละเอียด และดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นระดับการก่อสร้างที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาประสบการณ์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมิตรประเทศที่มีการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟความเร็วสูงที่มีระยะทางมากที่สุดในโลกภายใต้ระยะเวลาที่รวดเร็ว และมีราคาค่าก่อสร้างตลอดจนระบบการเดินรถที่ยอมรับในสากลและมีราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงในตลาดโลก อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้

ทั้งนี้ แนวทางการพึ่งพาบุคลากรผู้มีประสบการณ์จากต่างประเทศในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา เป็นแนวลักษณะเดียวกันกับการเริ่มต้นดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟนับตั้งแต่เริ่มต้นกิจการรถไฟในประเทศไทย ที่ในระยะแรกจำเป็นจะต้องมีวิศวกรจากประเทศเยอรมันและสหราชอาณาจักรเข้ามาดำเนินการออกแบบ และก่อสร้าง หรือในกิจการอื่น ๆ ที่ประเทศไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านแนวทางการปฏิบัติจากวิศวกรชาวต่างประเทศในกิจการสำคัญ ๆ ที่ผ่านมา

Advertisement

รัฐบาลไทยและกระทรวงคมนาคมจะได้กำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรชาวไทย คนไทย เพื่อใช้ในการต่อยอดและพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยในลำดับต่อไปให้มากที่สุด เพื่อลดการพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ รวมถึงจะได้กำหนดให้มีการใช้วัสดุภายในประเทศไทยให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ และระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมต่อไป

  1. จริงหรือไม่ที่ประเทศไทยต้องสูญเสียค่าออกแบบนับเป็นจำนวนถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูง และจะทำให้สูญเสียสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม ของไทยอันเป็นเอกลักษณ์ ?

คำถามนี้ทางกระทรวงคมนาคม ได้ยืนยันว่ามูลค่าการออกแบบโครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวไม่เป็นความจริง และคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก โดยค่าออกแบบในโครงการความร่วมมือดังกล่าวจะมีมูลค่าการว่าจ้างออกแบบรายละเอียดประมาณร้อยละ 1 ของโครงการ ซึ่งเป็นอัตราตามมาตรฐานราคากลางที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือมีมูลค่าประมาณ 1.7 พันล้านบาท จากมูลค่าโครงการรวมประมาณ 1.79 แสนล้านบาท อีกทั้งวงเงินรวมมูลค่าโครงการก็ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบส่งผลให้มีกรอบวงเงินลดลงถึงประมาณ ร้อยละ 20 จากกรอบมูลค่าวงเงินลงทุนที่ได้รับการเสนอมาในเบื้องต้น สำหรับการรักษาอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรมไทย ในงานสถาปัตยกรรมนั้น กระทรวงคมนาคมได้เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้ที่สนใจ มีส่วนร่วมในการออกแบบกรอบแนวคิดการออกแบบงานสถาปัตยกรรมอาคารสถานีรถไฟความเร็วสูงของไทยตลอดแนวสายทางโครงการดังกล่าว จนในขณะนี้ ได้ข้อสรุปของกรอบแนวคิดในการนำมามอบให้ที่ปรึกษาโครงการออกแบบรายละเอียดรับไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

  1. จริงหรือไม่ที่ไทยได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าในตลาดเงินอื่น ๆ เพื่อใช้ในการลงทุนโครงการ ?

สำหรับเรื่องอัตราดอกเบี้ย กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังได้ร่วมมือกันในการพิจารณาถึงแหล่งทุนในการดำเนินโครงการมาโดยตลอด และได้พิจารณาถึงแหล่งทุนทั่วไปอื่นๆ ที่สมเหตุผล และมีอัตราที่ยอมรับว่าได้รับการสนับสนุนจากมิตรประเทศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเหมาะสมและต้นทุนในการดำเนินโครงการที่ต่ำที่สุด จากข่าวที่เผยแพร่ออกมา ซึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง ได้ตกลงที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยที่สูง จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทั้งนี้ การพิจารณาในเรื่องแหล่งเงินทุนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลังให้ได้ข้อยุติในเร็วๆ นี้ โดยมีนโยบายที่ชัดเจนในการคงไว้ซึ่งต้นทุนทางการเงินที่ต่ำที่สุดในการดำเนินงาน

Advertisement
  1. ใครบริหารการเดินรถเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ?

หากดูจากประสบการณ์ในต่างประเทศ เช่น ประเทศสเปน อันเป็นประเทศล่าสุดที่ได้มีการพัฒนาโครงการความเร็วสูงในยุโรป เมื่อเริ่มต้นในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงจะมีข้อกำหนดในขอบเขตของงานให้ผู้ผลิตงานระบบและตัวรถไฟความเร็วสูงจะต้องเข้ามาถือหุ้นในการเดินรถในระยะแรก ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับประเทศอื่นๆ อันเป็นสากลในโลก ที่เพิ่งเริ่มต้นในการดำเนินกิจการ อันเนื่องมาจากประโยชน์ที่จะได้รับจากการถ่ายทอดประสบการณ์การเดินรถที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการเดินขบวนรถ การรักษาสภาพทาง และการซ่อมบำรุงระบบการเดินรถ ทำให้เกิดความปลอดภัย

เช่นเดียวกันกับแนวทางของประเทศไทยที่จะได้รับประโยชน์หากได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์การบริหารจัดการโครงการจากมิตรประเทศ ตลอดจนการร่วมหาพันธมิตรในการทำการตลาดจากต่างประเทศที่มีแนวสายทางเชื่อมโยงระหว่างกันต่อไป ในลักษณะของการร่วมทุนในการบริหารจัดการเดินรถ ภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย ซึ่งจะเป็นการเข้าร่วมรับความเสี่ยงในการบริหารกิจการ อันเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อฝ่ายไทย ซึ่งในเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาทั้งสองฝ่ายให้ได้ข้อยุติต่อไป

ทั้งนี้การดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ รวมถึงดำเนินการด้วยความรอบคอบ รัดกุม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และได้รับความเชื่อถือ สนับสนุนจากประชาชนอย่างถึงที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image