เปิดแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งปี 60 ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน “มุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืน”(2)

 

จากความสำเร็จของการดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐผ่านโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ ระบบราง และทางอากาศ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2559 (Action Plan) ของกระทรวงคมนาคม ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. แล้ว 13 โครงการ มีการเซ็นสัญญาและลงมือก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 7 โครงการจะเร่งดำเนินการให้มีความต่อเนื่อง

สำหรับปี  2560 นี้ กระทรวงคมนาคมภายใต้การนำของ “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำหนดแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2560 เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และเป็นไปตามแผนการดำเนินงานภายใต้ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (พ.ศ.2558 – 2565)

ในแผนปฏิบัติการฯ ระยะเร่งด่วน 2560 ดังกล่าว ได้มุ่งเน้นการพัฒนาโครงข่ายระบบรางเชื่อมโยงทั้งในเมืองและระหว่างเมือง กว่าร้อยละ 73 ของวงเงินการลงทุน การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและภูมิภาค การพัฒนาทางหลวงเชื่อมโยงฐานการผลิตของประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และการเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการขนส่งทางอากาศรวมจำนวน 36 โครงการ โดยมีกรอบวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 8.95 แสนล้านบาท ทั้งนี้กระทรวงฯ จะพิจารณาให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ในโครงการเหล่านี้ส่วนหนึ่งด้วย

Advertisement

สำหรับโครงการทั้ง 36 โครงการสามารถแบ่งออกเป็น 9 ด้าน ได้แก่ 1) รถไฟทางคู่ 10 เส้นทาง 2) รถไฟชานเมือง 2 เส้นทาง 3) รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 6 เส้นทาง 4) ทางหลวงพิเศษ และทางพิเศษ 5 เส้นทาง 5) สิ่งอำนวยความสะดวกทางถนน 5 โครงการ 6) รถโดยสารสาธารณะ 1 โครงการ 7) ระบบบริหารจัดการขนส่งสาธารณะ 1 โครงการ 8) ทางน้ำ 3 โครงการ และ 9) ทางอากาศ 3 โครงการ และสามารถแบ่งกลุ่มโครงการที่มีความพร้อมในปีงบประมาณนี้  ออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

1) กลุ่มโครงการที่พร้อมให้บริการได้ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก และตะวันตกระยะสั้น (การเดินเรือเฟอร์รี่) และโครงการการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม

2) กลุ่มโครงการที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ จำนวน 5 โครงการ เช่น (1) โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย (2) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานในภูมิภาค ระยะแรก (ท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก            ท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ท่าอากาศยานสกลนคร จ.สกลนคร และท่าอากาศยานกระบี่ จ.กระบี่) (3) โครงการทางพิเศษ สายพระราม 3–ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก (4) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน–ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

Advertisement

3) กลุ่มโครงการที่เริ่มประกวดราคาได้ จำนวน 15 โครงการ เช่น (1) โครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้พลังงานไฟฟ้า จำนวน 200 คัน พร้อมก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้า (2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 (3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู (4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต-ลำลูกกา (5) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (6) โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ส่วนต่อขยายระยะที่ 1ช่วงพญาไท – บางซื่อ และระยะที่ 2 ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง (7) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย (8) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี (9) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย (10) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี และ (11) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เป็นต้น

4) กลุ่มโครงการที่เสนอ ครม. หรือคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) พิจารณา จำนวน 8 โครงการ เช่น (1) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (2) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม (3) โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และ (4) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น

5) กลุ่มโครงการที่เตรียมข้อเสนอโครงการแล้วเสร็จ จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบน ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกระยะยาว (การพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่) (2) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย (3) โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค (ชายแดน 9 จังหวัด) (4) โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค (เมืองหลัก 8 จังหวัด)

ส่วนกลุ่มโครงการสำคัญที่ต้องการผลักดัน มีจำนวน 2 โครงการ ได้แก่  (1)  โครงการพัฒนาจุดพักรถบรรทุกตามเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักของประเทศ (จ.บุรีรัมย์  จ.อุดรธานี และจ.กำแพงเพชร) (2) โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต

แน่นอนว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนของภาครัฐผ่านเมกะโปรเจกต์ด้านคมนาคมขนส่งในปี 2560 นี้ จะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image