สกว.จับมือกลุ่มมิตรผลปั้นนักวิจัยสู่เศรษฐกิจชีวภาพ

ศาสตราจารย์(ศ.) นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(ขวา)นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล

ศาสตราจารย์(ศ.) นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวตอนหนึ่งในพิธีร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนโครงการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับนักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จำนวน10 ทุน ระหว่างสกว.กับบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เมื่อเร็วๆนี้ว่า เป็นการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยด้วยงานวิจัย เพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศที่จะก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรสมัยใหม่ ที่ใช้การผสมผสานระหว่างความรู้ดั้งเดิมและเครื่องจักรกลอัจฉริยะเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ตลอดจนการสร้างฐานเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ให้อุตสาหกรรมไทยมีความเข้มแข็งและอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันในตลาดสากล

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า วิสัยทัศน์ใหม่ของกลุ่มมิตรผลกำลังมุ่งสู่การขับเคลื่อนธุรกิจฐานชีวภาพ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดด สอดรับนโยบายประเทศไทย 4.0

ทั้งนี้ โครงการวิจัยของนักวิจัยจากกลุ่มมิตรผลในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกนี้ มี 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์อ้อย การพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อ้อยและน้ำตาล การพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือทิ้งด้วยกระบวนการ Bio-Refinery และการสร้างเสริมระบบการจัดส่งและจัดเก็บวัตถุดิบ

ด้านนายนาวิน วิริยะเอี่ยมพิกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการ พวอ. กล่าวว่า สำหรับผลงานระดับปริญญาเอกนั้นจะเน้นในด้านการเพิ่มมูลค่าและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือทิ้งไปเป็นคาร์บอนที่มีพื้นที่ผิวสูงรูพรุนที่เหมาะสมในการดูดจับสีที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตน้ำตาล ทำให้ตัวกรองระดับนาโนที่ใช้ในโรงงานอุดตันช้าลงใช้งานได้นานขึ้น การปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อนำมากลับมาใช้ในกระบวนการผลิต โดยจะหาสาเหตุ วิธีการป้องกัน และบำบัดน้ำทิ้งในระบบกระบวนการผลิตน้ำตาลที่มักเกิดสารอะคริลามายด์ (acrylamide) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง จึงไม่สามารถนำกลับเข้ามาใช้งานในกระบวนการผลิตได้อีก หากโครงการสำเร็จจะสามารถทำให้ประหยัดน้ำ และลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลงได้มากถึงวันละ 400,000 บาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image