แพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง คนเบื้องหลัง กำกับดูแลบริหารเงินภาครัฐ ‘ถูกต้อง มีวินัย คุ้มค่า โปร่งใส’
เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ก่อนที่ภาครัฐจะใช้ทุกสตางค์ของเงินภาษีประชาชนทุกครั้ง จะต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น เสาไฟฟ้าหน้าบ้าน โครงการภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้าง เงินเดือนข้าราชการ และทุกๆ การใช้จ่ายของภาครัฐล้วนต้องผ่านหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่มีชื่อว่า ‘กรมบัญชีกลาง’ ซึ่งหากไม่มีกรมบัญชีกลาง สิ่งที่อาจเกิดขึ้นมีตั้งแต่ การบริหารจัดการเงินของรัฐเป็นไปอย่างไม่เป็นระบบ ขาดความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน รวมถึงส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของระบบการเงินและการลงทุนในประเทศร่วมด้วย
กรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง มีภารกิจหลักสำคัญคือ ‘การกำกับดูแลและบริหารการใช้จ่ายเงินของภาครัฐให้เป็นไปอย่างถูกต้อง มีวินัย คุ้มค่า โปร่งใส และตรวจสอบได้’ สิ่งนี้คือกรอบกว้างๆ ในการทำงานของกรมบัญชีกลาง ทว่าเมื่อเจาะลึกลงไปที่รายละเอียดจะพบว่า ขอบเขตการทำงานของกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ ประการที่ 1. การกำกับและบริหารการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน ประการที่ 2. เพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประการที่ 3. สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และประการที่ 4. สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง
และดูเหมือนช่วงเวลานี้ บทบาทของกรมบัญชีกลางแลดูจะโดดเด่นและน่าจับตามองไม่น้อย ในฐานะ ‘กรมบัญชีกลางยุคใหม่’ เพราะเราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การเปลี่ยนจากกระดาษสู่ดิจิทัล การผลักดันภาครัฐสีเขียว ตลอดจนการส่งเสริมความโปร่งใสสู่ภาคประชาชน ภายใต้การนำทัพของ แพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง
กรมบัญชีกลางยุคดิจิทัล ลดขั้นตอน ลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย
ในทศวรรษที่องค์กรขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี กรมบัญชีกลางนับเป็นหนึ่งในองค์กรภาครัฐที่ปรับตัว เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ระบบงานสอดคล้องกับยุคสมัยได้อย่างรวดเร็วเสมอ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการปรับเปลี่ยนระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ที่เดิมทีต้องทำผ่านการกระดาษทั้งหมด ได้เปลี่ยนสู่การทำบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่นอกจากจะเป็นภาพลักษณ์เรื่องความทันสมัย ยังตามมาด้วยเรื่องของความปลอดภัย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในเวลาเดียวกัน
“ระบบจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ e-GP(e-Bidding) ปัจจุบัน เราใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการเข้ารหัส(encrypt) เรื่องการ E-Bidding ถามว่าเป็นอย่างไร สมมุติว่าใครก็แล้วแต่สนใจจะ bid โครงการไหนของรัฐ ก็ bid เข้าไป ซึ่งจะไม่ใช่การประมูล เพราะสิ่งนี้คือการใส่ราคาเข้าไปในระบบ เมื่อสิ้นสุดเวลาระบบเวลาก็จะแจ้งออกมาว่าใครให้ราคาที่ต่ำที่สุด ถามว่าแล้วบล็อกเชนเข้ามาช่วยอะไร ระบบนี้เข้ามาช่วยให้เกิดการตรวจสอบได้ มีการเข้ารหัสถึงสองชั้น ซึ่งข้อมูลทั้งหมดไม่ได้มาเก็บที่กรมบัญชีกลาง ไปเก็บที่ 3rd party ทำให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
“ภาพรวมเรากำลังไปได้ดี การเข้ามาของเทคโนโลยีช่วยให้การทำงานของกรมบัญชีกลาง ลดขั้นตอน ลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องปรับตัว เพราะระบบที่เข้ามายังมีการแยกส่วนอยู่บ้าง โจทย์ต่อไปคือการทำอย่างไรให้สามารถคีย์ข้อมูลครั้งเดียวแล้วเชื่อมกันทุกระบบ ซึ่งเรากำลังพยายามทำงานกันอย่างหนักอยู่ในเรื่องนี้
“อีกหนึ่งสิ่งที่กรมบัญชีกลางอยากจะมุ่งไปคือ การเปิดเผยข้อมูลให้มากกว่านี้ ปัจจุบันเราเริ่มใช้เทคโนโลยีในการเปิดเผยข้อมูล สิ่งที่เราอยากมุ่งเน้นคือการเปิดเผยข้อมูลที่มีมาตรฐานสากล ในมิติต่างๆ เพื่อให้ภาคประชาสังคม สามารถเอาข้อมูลของเราไปใช้ต่อได้ เพื่อให้คนไปวิเคราะห์ หรือไปใช้ดูเพื่อตรวจสอบภาครัฐได้ สิ่งที่เราอยากเห็นคือ ภาครัฐที่มีความโปร่งใส
“งานของกรมบัญชีกลางล้วนเป็นงานเบื้องหลัง งานของเราคือทุกอย่างที่เราอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้หน่วยราชการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอน สิ่งนี้เองคือความภูมิใจของกรมบัญชีกลาง ส่วนงานเบื้องหน้าของกรมบัญชีกลาง คือการแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหา เช่น การฮั้วประมูล การขายข้อมูล ซึ่งปัจจุบันสามารถแก้พวกนั้นได้ ซึ่งทั้งสองสิ่งกรมบัญชีกลางทำได้ดี แต่ว่าเราไม่ได้หยุดแค่นี้ กรมบัญชีกลางจะเดินหน้าปรับปรุงไปเรื่อยๆ เราทำสิ่งที่เราอยากทำเพื่อให้ภาครัฐดีขึ้น”
ภาครัฐสีเขียวเริ่มต้นที่กรมบัญชีกลาง
อีกหนึ่งวิสัยทัศน์อันแรงกล้าของ อธิบดีกรมบัญชีกลาง คนล่าสุดคือ การผลักดันองค์กรขับเคลื่อนภาครัฐสีเขียวและลดต้นทุนประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ที่มุ่งหมายให้ภาครัฐไปสู่ภาครัฐสีเขียว
“กรมบัญชีกลางมีความมุ่งมั่นในการผลักดันภาครัฐให้เป็นภาครัฐสีเขียวได้มากยิ่งขึ้น เพราะว่าเรามีข้อตกลงเรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับโลกหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็น Paris Agreement, Net Zero ถามว่าภาครัฐของเราปรับตัวหรือยัง ในเรื่องของการปรับให้มันเป็นสีเขียว เพื่อทำให้ประเทศดำเนินไปสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาครัฐเองมีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำเรื่องนี้ กฎกติกามารยาททั้งหมดอยู่ที่กรมบัญชีกลาง เพราะฉะนั้นกรมบัญชีกลางเองจึงต้องมีบทบาทสำคัญในการย้อนกลับมามองกฎเกณฑ์ทั้งหมดว่า เราสามารถผลักดันทำให้ภาครัฐขยับไปสู่ภาครัฐสีเขียวได้
“ยกตัวอย่างง่ายๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดที่ภาครัฐซื้อ อาจจะต้องมีเครื่องหมายประหยัดไฟทุกกรณี คอมพิวเตอร์ที่ภาครัฐซื้อจะต้องมี energy saving star ซึ่งจริงๆ อาจจะทำกันอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แต่อาจจะไม่ได้อยู่ในข้อบังคับที่กำหนด สิ่งนี้เองคิดว่าภาครัฐทุกส่วนราชการสามารถใช้ได้ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“แม้ปัจจุบันเรามีสินค้าฉลากสีเขียว แต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากนักทั้งคนซื้อและคนขาย ในมุมผู้ผลิตอาจจะไม่เคยสนใจขายกับทางภาครัฐมาก่อน เพราะมองว่าภาครัฐไม่สนใจ แต่จริงๆ แล้วตลาดนี้ใหญ่มาก หากมีการกำหนดกฎเกณฑ์การจัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เชื่อได้เลยว่าคู่ค้าจะเยอะขึ้น การแข่งขันด้านราคาจะสูงขึ้น และในท้ายที่สุดจะทำให้เกิดสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และภาครัฐเองจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศบรรลุข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในท้ายที่สุด”
ก้าวต่อไปที่โปร่งใสเพื่อประชาชน
ในฐานะอธิบดีกรมบัญชีกลาง สิ่งหนึ่งที่เธออยากเห็นคือ การที่สามารถลดต้นทุนของประเทศได้ ซึ่งทางกรมฯ มีความเชื่อมั่นว่ายังทำอะไรได้อีก การลดต้นทุนของประเทศมีตั้งแต่การลดเวลาของส่วนราชการ ลดเวลาของภาคเอกชน ผ่านการลดขั้นตอนการทำงานของข้าราชการและหน่วยงานส่วนราชการทั้งหมด ลดค่าใช้จ่ายที่เป็นเม็ดเงิน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวไปเกิดขึ้นเพราะกฎระเบียบที่มีกรอบวางไว้ของกรมบัญชีกลาง สิ่งที่เรามุ่งมั่นตั้งใจต่อไปคือ การตรวจสอบดูว่ามีอะไรที่ควรจะลด ละ เลิก ปรับ หรือนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเสริมเพื่อให้กระบวนการมันมีประสิทธิภาพขึ้นหรือไม่
“เราให้ความมั่นใจกับประชาชนได้ว่า ทางกรมฯ กำกับดูแลบริหารเงินของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและถูกต้อง มีวินัย คุ้มค่าโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยสิ่งที่จะเห็นต่อไปในอนาคตของกรมบัญชีกลางก็คือ เราจะเปิดเผยข้อมูลให้เป็นสาธารณะมากขึ้น รวมถึงทำเป็น Open data ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ได้โดยอิสระ โดยภาพรวมสิ่งที่เราอยากเห็นคือ ภาครัฐที่มีความโปร่งใส” อธิบดีกรมบัญชีกลาง ทิ้งท้าย