ม.หัวเฉียวฯ ยืนหนึ่งแพทย์แผนจีน พัฒนาหลักสูตรวิทย์สุขภาพ

หากเอ่ยถึงมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เชื่อว่าชื่อของ ‘มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ’ ต้องติดโผอันดับต้นๆ ด้วยวิสัยทัศน์ เป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นนำด้านจีนศึกษาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยเฉพาะศาสตร์การแพทย์แผนจีนอันโด่งดัง ส่งผลให้ ม.หัวเฉียวฯ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันสุขภาพของคนไทย

รศ.ดร.อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า หลังจากที่โลกเผชิญสภาวะโรคระบาดโควิด-19 ประชาชนต่างให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย เป็นเหตุให้ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุอย่าง ภาวะสมองเสื่อม หรือการดูแลสุขภาพระยะยาว เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ศาสตร์ทางด้าน Wellness ชะลอวัย การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันสุขภาพ มีความสำคัญและมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มมากขึ้น

“มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นและเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมาตั้งแต่ต้น โดยเริ่มก่อตั้งมาด้วยคณะพยาบาลศาสตร์ เรามีเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ในการที่จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และจีนศึกษา ด้วยเรามีศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพค่อนข้างครบวงจร น่าจะมีบทบาทในการที่จะช่วยเหลือหรือชี้นำสังคมเรื่องการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันสุขภาพ หรือการดูแลสุขภาพที่เน้นเฉพาะรายบุคคล ทั้งเรื่องของ Well-being และ Healthcare”

ADVERTISMENT

บทบาทในการผลักดันสุขภาพคนไทย

ม.หัวเฉียวฯ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันสุขภาพของคนไทยที่เห็นเด่นชัด คือ ด้านการศึกษาและฝึกอบรม โดยเปิดสอนหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพหลากหลายสาขาวิชา ได้แก่ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด การแพทย์แผนจีน สาธารณสุขศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และที่เพิ่งเปิดใหม่ล่าสุด คือ วิทยาการหุ่นยนต์สุขภาพ (Health Robotics) หลักสูตรนานาชาติ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

“ทุกหลักสูตรที่เปิดใหม่ จะเป็นหลักสูตรที่เอียงไปทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นส่วนใหญ่ แต่ของเราจะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากที่อื่น คือทุกหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเราจะผสมผสานด้านจีนไปด้วย เพราะฉะนั้นทุกคนที่จบจากหัวเฉียวจะพูดภาษาจีนได้ รวมถึงเป็นหลักสูตรที่บูรณาการด้านดิจิทัล เพราะต้องรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และด้าน Entrepreneur คือต้องออกไปเป็นผู้ประกอบการได้ เพราะฉะนั้นเรามีส่วนผลักดันสุขภาพคือผลิตบุคลากรทางด้านสุขภาพซึ่งเป็นสาขาขาดแคลนให้กับประเทศ” อธิการบดี ม.หัวเฉียวฯ เผย

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังขยายขอบข่ายความชำนาญด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพภายใต้แคมเปญ “ม.หัวเฉียวฯ เราเป็นมากกว่ามหาวิทยาลัย HCU More than a University” จัดตั้งศูนย์บริการด้านสุขภาพเพื่อบริการและให้ความรู้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น HCU Health Center ศูนย์สุขภาพสำหรับทุกช่วงวัย ซึ่งประกอบด้วย Wellness Unit และ Rehabilitation Unit (ศูนย์ฟื้นฟู) รวมถึงคลินิกต่างๆ อาทิ หัวเฉียวสหคลินิก คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกการแพทย์แผนจีน คลินิกเทคนิคการแพทย์ หน่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ศูนย์ดูแลสุขภาพบุรุษและสตรีด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

และอีกหนึ่งบทบาทสำคัญตามปณิธานของมหาวิทยาลัย “เรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม” คือ ด้านบริการชุมชน โดยมีการจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพในชุมชน ซึ่งโครงการที่มีความโดดเด่นและจัดมายาวนานกว่า 200 ครั้ง คือ  โครงการ มฉก. บริการชุมชน ร่วมกับหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชนมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ให้บริการตรวจรักษาสุขภาพทั่วไปเป็นประจำทุกเดือนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

นวัตกรรมสุขภาพที่โดดเด่น 

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ม.หัวเฉียวฯ มีการพัฒนานวัตกรรมและผลงานด้านสุขภาพที่โดดเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ที่ใช้ใบมะม่วงน้ำดอกไม้ของจังหวัดสมุทรปราการมาสกัดสาร Mangiferin ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ ต้านอนุมูล ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และฆ่าเชื้อไวรัส ผลิตเป็นยาสีฟันอัดเม็ด ชื่อ Main Go

ต่อมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพรจีน ชื่อ เซ็ปเป้อินหยาง X หัวเฉียว โดยทีมวิจัยด้านสมุนไพรคณะการแพทย์แผนจีน ร่วมกับ บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) มี 2 สูตร คือ สูตรสดชื่น เพื่อคนนอนดึก ทำงานหนัก และพักผ่อนน้อย และสูตรใจสงบ สำหรับคนคิดมาก นอนหลับยาก ช่วยปรับอารมณ์ ลดความเครียด เป็นการปรับสมดุลภายในร่างกายตามวิถีแพทย์แผนโบราณของจีน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังจัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือ Cosmetic and Herbal Innovation Center (CHIC) ซึ่งเป็นทั้งศูนย์ฝึกงานนักศึกษา และโรงงานผลิตเครื่องสำอางค์หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย

ความร่วมมือพันธมิตร

ม.หัวเฉียวฯ มีความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกและองค์กรด้านสุขภาพหลายแห่งเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและสนับสนุนด้านสุขภาพ ในด้านการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยมีแหล่งฝึกงานอยู่ในเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศ เชิงพาณิชย์ มีความร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง บริษัท ศิริอรุณ เวลเนส จำกัด ในการเปิดธุรกิจศูนย์การแพทย์แผนจีน นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายที่ให้ทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมหาวิทยาลัยร่วมกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และโรงพยาบาลหัวเฉียว มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ต้องการเป็นพยาบาลแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงทุนการศึกษาผลิตบัณฑิตสาขาวิชาปัญญาประดิษฐ์ จาก บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ จำกัด

ขณะที่ในต่างประเทศ ม.หัวเฉียวฯ มีเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกว่า 40 แห่งในประเทศจีน เพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษา แลกเปลี่ยนอาจารย์ หรือบางหลักสูตรเป็นความร่วมมือผลิต เช่น แพทย์แผนจีน ซึ่งจะได้ปริญญา 2 ใบ หรือปริญญาร่วม นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาจากต่างประเทศ ทั้งฟิลิปปินส์ที่เข้ามาเรียน Short Course และประเทศลาวที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพโดยเฉพาะ

อธิการบดี ทิ้งท้ายว่า ม.หัวเฉียวฯ ได้ปรับกระบวนทัศน์ใหม่สู่ความเป็น New HCU ที่เป็นมากกว่าสถาบันการศึกษา โดยมุ่งสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ทุกช่วงวัย ด้วยการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยสู่ 5 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1. Niche University เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านจีนศึกษาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและอาเซียน 2. Lifelong Learning University เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต 3. Quality University เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพระดับชาติและนานาชาติ 4. Digital Transformation เตรียมพร้อมมหาวิทยาลัยด้วยการนำเทคโนโลยีและดิจิทัล ขับเคลื่อนระบบการเรียนการสอน งานบริหาร และงานบริการ และ 5. Green, Good Governance, Self-Supporting and Sustainability University บริหารจัดการมหาวิทยาลัยและสิ่งแวดล้อมอย่างพอเพียง มีประสิทธิภาพ ตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน