เปิดแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งปี 60 ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน “มุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืน”(3)

 

จากที่ได้กล่าวถึงแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งปี 2560 ไปก่อนหน้านี้ เราคงได้เห็นทิศทางของการขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจากแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 (ActionPlan) ทั้ง 36 โครงการ ซึ่งหลักๆ ได้โฟกัสไปที่โครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาค รวมทั้งระบบตั๋วร่วม โครงการก่อสร้างทางพิเศษระหว่างเมือง โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 และท่าเรือเฟอร์รี่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานและสิ่งอำนวยความสะดวก และสุดท้ายคือโครงการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง ศูนย์การขนส่ง สถานีขนส่งสินค้า และจุดพักรถบรรทุก

อย่างไรก็ตามหลายคนอาจจะสงสัยว่า เมื่อโครงการทั้งหมดสำเร็จผลเป็นรูปธรรมผลลัพธ์ที่ได้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และการคมนาคมขนส่งของไทยอย่างไร? เพื่อจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น จะขออธิบายเป็นกลุ่มโครงการ

อันดับแรกคงต้องโฟกัสไปที่กลุ่มโครงการที่พร้อมให้บริการ ซึ่งมีจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก (พัทยา สัตหีบ) และตะวันตก (ชะอำ หัวหิน ปราณบุรี) โดยเรือเฟอร์รี่ ซึ่งได้เริ่มเปิดให้บริการแล้ว เมื่อเดือนมกราคม 2560 จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวของทั้ง 2 พื้นที่ให้ไปมาหาสู่กันได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น และโครงการการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ประชาชนและผู้รับบริการจะได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง เรือโดยสาร รวมถึงทางพิเศษ

Advertisement

กลุ่มโครงการที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ จำนวน 5 โครงการ เช่น โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย โครงการนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า ระหว่างไทย สปป.ลาว และจีนตะวันตกตามเส้นทาง R3A แน่นอนว่าจะนำไปสู่การเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ระหว่างไทยกับจีน และเพิ่มบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอาเซียนอีกทางหนึ่ง

ต่อมาคือโครงการพัฒนาอากาศยานในภูมิภาค ระยะแรก ได้แก่ ท่าอากาศยานแม่สอด ท่าอากาศยานเบตง ท่าอากาศยาน สกลนคร และท่าอากาศยานกระบี่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานในภูมิภาครองรับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้นและได้มาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะเป็นการขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่ ระยะทาง 90 กิโลเมตร ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการรองรับการเดินรถ รองรับการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

นอกจากกลุ่มที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างยังมี กลุ่มที่เริ่มประกวดราคาได้ ซึ่งมีทั้งสิ้น 15 โครงการ ขอยกตัวอย่างพอให้เห็นภาพ เริ่มจากโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งจะว่าไปก็มีทั้งสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4  สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ – บางปู และช่วงคูคต– ลำลูกกา รวมทั้งสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งหลักๆ แล้วเป็นการขยายโครงข่ายระบบขนส่งจากกรุงเทพฯ ไปสู่ปริมณฑล ซึ่งหากกล่าวในภาพรวมก็คือจะทำให้การเดินทางประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย ลดปริมาณการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวจากบริเวณชานเมืองเข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองนั่นเอง

Advertisement

มาดูที่โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่กันบ้าง โครงการเหล่านี้ จะช่วยให้การเดินทางรถไฟในภูมิภาคมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เพราะจะมีสายหลักๆ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่  ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี ช่วงหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ และช่วงสุราษฎร์ธานี – หาดใหญ่ –สงขลา ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถในการเพิ่มความจุทางรถไฟในเส้นทางต่างๆ ในภูมิภาค รองรับความต้องการด้านคมนาคมขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีความปลอดภัยในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ความรวดเร็วในการเดินขบวนรถไฟ และสนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าสู่กลุ่มจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งรองรับการเจริญเติบโตของการค้าชายแดนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มโครงการที่เสนอ ครม. หรือคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) พิจารณา จำนวน 8 โครงการเช่น โครงการก่อสร้างรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของและสายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนมที่จะช่วยขยายโครงข่ายทางรถไฟใหม่ในเส้นทางสายเหนือ และอีสานสามารถตอบสนองความต้องการด้านการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น และจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีศักยภาพมากขึ้นอีกเช่นกัน

ในส่วนของกรุงเทพฯ – ปริมณฑลก็จะมีโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายาโครงการนี้จะช่วยขยายโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางให้เป็นแกนหลักในการเดินทางระหว่างกลางใจเมืองไปสู่ชานเมืองโดยรอบ และยังช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ที่จะช่วยรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าอีก 6,900 ล้านอีทียู/ปี เพื่อให้มีท่าเทียบเรือรองรับความต้องการการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น

กลุ่มโครงการที่เตรียมข้อเสนอโครงการแล้วเสร็จ จำนวน 4 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและตะวันตก ระยะยาว โครงการนี้จะช่วยให้บริการขนส่งผู้โดยสารและรถยนต์ มีความทันสมัย ภายใต้การให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ และสุดท้ายคือกลุ่มโครงการสำคัญที่ต้องการผลักดัน จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาจุดพักรถบรรทุกตามเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักของประเทศ (จ.บุรีรัมย์ จ.อุดรธานี และ จ.กำแพงเพชร) และโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งได้อย่างปลอดภัยในอนาคต

นี่เป็นเพียงตัวอย่างจากทั้ง 36 โครงการหลัก ที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งของกระทรวงคมนาคม ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ และนำมาซึ่งความสุข อยู่ดี กินดี ของพี่น้องประชาชนทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image