‘พีระพันธุ์’ จุดพลัง!! ‘ภาคต่อ’ความสัมพันธ์ ไทย-ซาอุฯ

รองนายกฯ “พีระพันธุ์” เชื่อมสัมพันธ์รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย  สานต่อความร่วมมือด้านพลังงานทุกมิติ ดึงซาอุฯ ปักหมุดพัฒนาเทคโนโลยี “ไฮโดรเจน” พร้อมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในไทย

หลังจากที่ไทยได้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับทางซาอุดีอาระเบีย เมื่อครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ความร่วมมือทางด้านพลังงานก็เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกนำมาหารือเพื่อพัฒนาไปสู่การขยายความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ และถึงแม้ความคืบหน้าในความร่วมมือด้านนี้จะแผ่วลงไปบ้างในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทย  แต่ล่าสุด นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ได้จุดพลังความร่วมมือของสองประเทศขึ้นมาอีกครั้งในระหว่างการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา  ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสานต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้มีความต่อเนื่องและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศในด้านพลังงานและด้านอื่น ๆ

การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของคณะผู้บริหารด้านพลังงานไทยที่นำโดยนายพีระพันธุ์ครั้งนี้มีเป้าหมายสองด้าน  ด้านแรกคือการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียหลังจากที่มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ครั้งแรกในรอบ 32 ปี และอีกด้านหนึ่งเป็นการติดตามความคืบหน้าของการทำความตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงพลังงานไทยกับกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย ที่ได้มีการลงนามไปเมื่อปี 2565

คณะของฝ่ายไทยได้รับตอบรับอย่างดียิ่งจากคณะผู้บริหารด้านพลังงานของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนำโดยเจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน อัล ซาอุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย ที่ทรงให้การต้อนรับด้วยพระองค์เอง พร้อมกับเปิดเวทีให้มีการพบปะ เยี่ยมชม และแลกเปลี่ยนกับคณะผู้บริหารระดับสูงของวิสาหกิจชั้นนำด้านพลังงานของประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่าง Saudi Aramco บริษัทน้ำมันชั้นนำระดับโลก บริษัท SABIC ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ระดับโลก บริษัท ACWA Power ผู้ประกอบธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้า และ SEEC หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงานของประเทศ

ADVERTISMENT

ในภารกิจกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียนั้น  ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือในกรอบการค้า รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่จะเกิดประโยชน์โดยภาพรวมต่อทั้งสองประเทศ  ขณะที่ภารกิจด้านการติดตามความร่วมมือด้านพลังงานตาม MOU เดิมทั้ง 8 ข้อ  ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทางซาอุดีอาระเบียในทุกข้อตกลง โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อติดตามและผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียต่อไป

ประเด็นสำคัญที่มีการหารือในครั้งนี้และคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว  ก็คือ  ความร่วมมือด้านพลังงานแห่งอนาคต ซึ่งซาอุดีอาระเบียมีความพร้อมและกำลังพิจารณาที่จะเข้ามาลงทุนด้านนี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะความร่วมมือในการผลิตพลังงานไฮโดรเจน  ซึ่งเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่กำลังมีการศึกษา ค้นคว้า พัฒนากันอย่างมากในระดับสากล  เพราะเป็นพลังงานที่ตอบโจทย์ทั้งการเป็นเชื้อเพลิงสะอาดเพื่อภาคการขนส่งและอุตสาหกรรม  รวมทั้งสามารถนำมาชดเชยก๊าซซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า


นี่คือความร่วมมือระดับ “บิ๊กดีล” ที่นายพีระพันธุ์ นำติดไม้ติดมือกลับมาฝากประชาชนคนไทย  ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของพลังงานสะอาดได้อย่างยั่งยืน

“เรื่องการพัฒนาความร่วมมือพลังงานแห่งอนาคต โดยเฉพาะความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนที่มีราคาแพงและยังเป็นภาระต้นทุนที่สูง ซึ่งหากว่าไทยสามารถพัฒนาไฮโดรเจนจนได้ต้นทุนที่ถูกลง ก็จะสามารถนำพลังงานส่วนนี้มาชดเชยก๊าซ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า และลดค่าไฟแก่พี่น้องประชาชนได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งทางซาอุฯ เองก็รับปากที่จะมาลงทุนในไทยในเรื่องของพลังงานไฮโดรเจน” นายพีระพันธุ์กล่าว

นอกเหนือจากข้อตกลงทั้ง 8 ข้อใน MOU เดิม นายพีระพันธุ์ยังได้เสนอให้เพิ่มเติมความร่วมมือในด้านอื่นๆ ซึ่งได้แก่ การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านพลังงาน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของไทย ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียก็ได้ให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการให้การสนับสนุนด้านวิชาการแก่  ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’  ที่กำลังเตรียมจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย เพื่อช่วยยกระดับองค์ความรู้และบุคคลากรพลังงานที่จะสร้างประโยชน์ต่อประเทศไทยในอนาคตต่อไป

นายพีระพันธุ์ ยังได้ใช้โอกาสในการเยือนซาอุดิอาระเบียรอบนี้ เชิญชวนให้ซาอุดีอาระเบีย พิจารณาเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน ท่าเรือ และท่อขนส่งน้ำมันในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) ให้กับประเทศไทย และสามารถเป็นจุดกระจายน้ำมันจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งลงได้ โดยทาง ซาอุฯ ได้ให้ความสนใจและพร้อมที่จะเข้ามาศึกษารูปแบบการดำเนินระบบ SPR ของไทยทันทีเมื่อไทยมีความพร้อม

ในการเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ ยังเป็นการขยายโอกาสทางด้านการลงทุนให้กับผู้ประกอบการพลังงานไทยในซาอุดีอาระเบียด้วย โดยได้มีการพูดคุยขยายความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า  เนื่องจากปัจจุบัน ซาอุฯ มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศสูงมาก แต่ยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ จึงส่งสัญญาณผ่านทางกระทรวงพลังงานของไทยไปถึงนักลงทุนไทยที่สนใจจะมาลงทุนโรงไฟฟ้าที่ซาอุฯ

ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นถือเป็นการเปิดประตูครั้งสำคัญของสองฝ่าย หลังจากที่รอคอยมานานกว่า 2 ปี   วันนี้ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่าง ‘ไทย-ซาอุฯ’ ได้มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนแล้ว และจะปรากฏผลเป็นรูปธรรมได้ด้วยความจริงใจและจริงจังของทั้งสองฝ่าย เพื่อประโยชน์ร่วมกัน และเพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืนของประชาชนชาวไทย