‘ปัญหาภาวะโลกเดือด’ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ จนกลายเป็นโจทย์หลักที่ทั่วโลกต้องผสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะยิ่งกาลเวลาผันผ่านไป ผลกระทบก็จะยิ่งขยายสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับ ‘ประเทศไทย’ ที่เตรียมการรับมือวิกฤตโลกเดือดอย่างเต็มกำลัง โดยตั้งเป้าหมายและเร่งขับเคลื่อนอย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ทั้งพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรมและกระบวนการผลิต ภาคการเกษตร ไปจนถึงการจัดการของเสีย
‘กรมลดโลกร้อน’ ทัพหลักไทย
นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.)
หนึ่งในการขับเคลื่อนครั้งสำคัญ คือ การก่อตั้ง ‘กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.)’ หรือ ‘กรมลดโลกร้อน’ โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) การเพิ่มขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการ การสร้างกลไกให้เข้าถึงประชาชน สอดคล้องกับบริบททางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดี สส. เผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกตระหนักถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาของไทย อุณหภูมิเพิ่มสูงอย่างก้าวกระโดด เนื่องมาจากก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศสูงเกินความจำเป็น ประกอบกับประเทศไทยมีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้การปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ดังนั้น สส. จึงมุ่งดำเนินการตามนโยบายและแผนการดำเนินงานในทุกมิติ โดยเชื่อมโยงกับการดำเนินงานในระดับสากลผ่านพันธกรณีอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) พร้อมผสานความร่วมมือกับรัฐบาลระหว่างประเทศ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เพื่อนำความร่วมมือเหล่านั้นมาขับเคลื่อนในระดับประเทศ และลงลึกไปถึงระดับชุมชน โดยมีหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เป็นหัวเรือหลักและขานรับมาตรการและแผนขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ การติดตามประเมินผล พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนทั่วประเทศ
3 ภารกิจหลัก แก้วิกฤตโลกเดือด
อธิบดี สส. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของกรมฯ ประกอบด้วย การลดก๊าซเรือนกระจก ดำเนินแผนงานตามปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่ร้อยละ 30-40 ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงมีมาตรการจัดการ หน่วยงานรับผิดชอบ การติดตามผลรายปี โดยกรมฯ จะได้รับข้อมูลจากกระทรวงต่างๆ ที่กำหนดไว้เป็นเป้าหมายในแต่ละสาขา พร้อมขับเคลื่อนความคืบหน้ามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป
เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ โดยจัดทำแผน ‘การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan : NAP)’ ใน 6 สาขาสำคัญ ได้แก่ การจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนดำเนินงานตามพันธกรณีความตกลงปารีส (Paris Agreement) ภายใต้กรอบอนุสัญญา UNFCCC
สร้างกลไกให้เข้าถึงประชาชน ผ่าน ‘พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ โดยกรมฯ มีอำนาจทางกฎหมายในการเรียกให้ภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องรายงานข้อมูล เพื่อต่อยอดศึกษาพื้นฐานของอุตสาหกรรมเหล่านั้น และดำเนินการจัดสรรสิทธิ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อไป รวมถึงมีบทลงโทษสำหรับหน่วยงานที่ไม่สามารถดำเนินการตามสิทธิ์นั้นได้
อีกทั้งมี ‘Carbon Tax’ เพื่อจัดเก็บภาษีสินค้าต้นน้ำบางประเภท เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เป็นต้น นับเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้ภาคประชาชนทราบถึงต้นทุนแฝงคาร์บอนในรูปแบบของการบริโภค-การบริการ รวมถึง ‘การลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ’ เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศด้วยความสมัครใจ โดยสามารถนำคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นปริมาณการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านการรับรองไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศได้
“จากที่กล่าวมา หากภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถดำเนินการตามที่กรมฯ จัดสรรสิทธิ์ได้ ต้องหาคาร์บอนเครดิตจากภาคlส่วนที่มีขีดจำกัดในการลดก๊าซเรือนกระจกและเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง เช่น ภาคเกษตรกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนกว่า 20 ล้านคน และมีความพร้อมด้านการลดก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างน้อย ดังนั้น จึงกำหนดว่าคาร์บอนที่นำมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมได้ต้องเป็นคาร์บอนจากภาคเกษตร การจัดการของเสีย การเพิ่มพื้นที่ป่า เพื่อให้ภาคส่วนเหล่านี้ขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น”
นายพิรุณ กล่าวอีกว่า สส. ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ กรมสรรพากร ภายใต้กระทรวงการคลัง เพื่อออกแบบรูปแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกลไกที่สามารถช่วยเหลือได้ เช่น การสนับสนุน SME ทำ Carbon Footprint เพื่อคำนวณหรือประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ของทั้งองค์กร ให้รับรู้และหาแนวทางแก้ไข แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม นับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจอีกทางหนึ่ง
จากที่กล่าวมา ทิศทางขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้การดำเนินการของ สส. จึงมาในรูปแบบบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมรับมือจากผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมสร้างสังคมที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืน
“การเชื่อมโยงกลไกคาร์บอนทั้งสามเรื่อง คือ การจำกัดสิทธิ์การปล่อยคาร์บอน การจัดเก็บภาษีคาร์บอน และการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกได้ ทั้งยังเป็นการสร้างประโยชน์และความตระหนักรู้ให้ประชาชนไทยอีกทาง” นายพิรุณ ทิ้งท้าย