อุตสาหกรรมความงามเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อย เนื่องจากเครื่องสำอางส่วนใหญ่มีส่วนผสมของสารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้นเหตุสำคัญของการกระตุ้นให้เกิดภาวะโลกร้อน เนื่องจากในกระบวนการการผลิตดังกล่าวจะมีขั้นตอนในการเผาไหม้ ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนจำนวนมาก
ทำให้ผู้ประกอบการเครื่องสำอางหลาย ๆ แบรนด์ หันมาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่ ‘Green Beauty’ มากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยโลก ลดปริมาณขยะและก๊าซเรือนกระจกแล้ว ส่วนผสมจากธรรมชาติที่นำมาเป็นส่วนประกอบหลักแทนสารเคมีบางตัว ยังช่วยลดการระคายเคือง สำหรับคนที่มีผิวแพ้ง่าย อีกด้วยแต่หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วเครื่องสำอางสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร? แล้วเราจะเปลี่ยนผ่าน (Transition) ไปสู่ ‘Green Beauty’ ได้อย่างไร? วันนี้ Bangkok Bank SME จะพาไปไขข้อข้องใจเรื่องนี้กัน
‘อุตสาหกรรมความงาม’ ปล่อยคาร์บอน และสร้างขยะเท่าไหร่
อุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 488 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีส่วนช่วยสร้าง GDP และมิติทางเศรษฐกิจมากมาย แม้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การผลิตและการบริโภคก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายอย่างที่เราคาดไม่ถึง
รู้หรือไม่ว่า? สกินแคร์หรือเครื่องสำอางที่เราใช้แล้วทิ้งนั้นมากกว่า 70% กลายเป็นขยะพลาสติกที่ต้องฝังกลบ เพราะไม่สามารถรีไซเคิลได้ ในแต่ละวันเราสร้างขยะให้โลกประมาณ 1.14 กิโลกรัมต่อวันต่อคน และบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางสร้างขยะจำนวนมาก
ซึ่งขยะส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกจาก Packaging ต่าง ๆ ซึ่งองค์กร Zero Waste รายงานว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์มากกว่า 120 ล้านชิ้นต่อปี โดย 95% เป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง แล้วส่วนใหญ่เป็นขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ จึงเกิดเทรนด์ Sustainability Beauty หรือเทรนด์ความงามยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญทั้งบรรจุภัณฑ์ที่ Recycle ได้ นวัตกรรมใหม่ในการผลิตลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสูตรผสมที่มาจากธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีหรือใช้น้อยที่สุดเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
หลาย ๆ แบรนด์จึงหันมาใช้ส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมไปถึงการปลูกต้นไม้ทดแทน มีงานวิจัยพบว่า หากเราใช้ผลิตภัณฑ์ Refill รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 70% เลยทีเดียว เรามาดูกันดีกว่าว่าแบรนด์ความงามแบบไหนจะเป็น Eco-Friendly Beauty Brands แบรนด์บิวตี้สายรักษ์โลก เรารวมมาให้แล้ว
ในปัจจุบันองค์กรหรืออุตสาหกรรมแขนงต่าง ๆ รวมถึงวงการความงาม จึงหันมาสนใจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีเครื่องสำอางรีฟิลเพิ่มขึ้น และมีการใช้วัสดุรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ แบรนด์ต่าง ๆ ยังหันมาสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างรายได้ให้ชุมชนมากขึ้นด้วย
ทั่วโลกออกมาตรการจำกัดการใช้ไมโครพลาสติกในผลิตภัณฑ์ความงาม
เริ่มจากทางฝั่งยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรปให้การรับรองมาตรการที่จำกัดการเติมไมโครพลาสติกโดยเจตนาในผลิตภัณฑ์ภายใต้กฎระเบียบว่าด้วยสารเคมีของสหภาพยุโรป ‘REACH’ มาตรการใหม่นี้ ครอบคลุมถึงอนุภาคโพลีเมอร์สังเคราะห์ทั้งหมดที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ที่เป็นสารอินทรีย์ ไม่ละลายน้ำ และทนต่อการย่อยสลาย
โดยคณะกรรมาธิการยุโรป มีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับมลพิษจากไมโครพลาสติก ตามที่ระบุไว้ใน European Green Deal และแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Action Plan) ฉบับใหม่ โดยเครื่องสำอางที่เติมไมโครพลาสติกเพื่อวัตถุประสงค์หลายประการ เช่น การขัดผิวด้วยไมโครบีดส์ (Microbeads) เจลล้างหน้าหรือสบู่เหลวเพื่อช่วยขัดและขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว หรือเพื่อให้ได้เนื้อสัมผัส กลิ่นหอม หรือสีที่เฉพาะเจาะจง
แต่ภายหลังกลับพบว่า เม็ดพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เนื่องจากแทบเป็นไปไม่ได้ที่มันจะย่อยสลาย ทั้งยังปนเปื้อนลงในมหาสมุทรเป็นจำนวนมหาศาล และทำให้มีสัตว์น้ำจำนวนมากที่กินเม็ดพลาสติกเข้าไป มาตรการใหม่นี้ จึงนำมาใช้เพื่อป้องกันการรั่วไหลของไมโครพลาสติกประมาณครึ่งล้านตันออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยจะห้ามการจำหน่ายไมโครพลาสติกดังกล่าวและผลิตภัณฑ์ที่มีการเติมไมโครพลาสติกโดยเจตนา ซึ่งจะทำให้เกิดการรั่วไหลของไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมเมื่อถูกใช้งาน
ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Pollution Action Plan) โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดมลพิษจากไมโครพลาสติกลงร้อยละ 30 ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030)
ส่วนทางฝั่งเอเชีย ที่เป็นตลาดการค้าสำคัญอย่าง จีน เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนและกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศ ‘ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมมลพิษพลาสติก’ ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผลิตภัณฑ์เคมีที่มีไมโครบีดพลาสติก (Plastic Microbeads) จะถูกห้ามผลิตนับตั้งแต่สิ้นปี 2563 และห้ามจำหน่ายในตลาด นับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เอกสารคำแนะนำการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม’ ของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ยังระบุด้วยว่า ผลิตภัณฑ์เคมีที่มีไมโครบีดพลาสติกจะถูกห้ามผลิต นับตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2563 และห้ามจำหน่ายในตลาด นับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2565
ต่อมา เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 สำนักงานบริหารงานด้านการตลาดแห่งชาติจีน ได้กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับ ‘ข้อกำหนดบรรจุภัณฑ์ที่มากเกินไปสำหรับอาหารและเครื่องสำอาง’ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 โดยกำหนดไว้ว่า บรรจุภัณฑ์ที่มีหลายชั้นมากเกินไป ช่องว่างที่มากเกินไป หรือต้นทุนสูงเกินไป อย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ของเครื่องสำอางควรมีน้อยกว่า 3 ชั้น และอัตราส่วนช่องว่างของบรรจุภัณฑ์ควรต่ำกว่าร้อยละ 50
พฤติกรรมผู้บริโภค ‘วัยมิลเลนเนียล’ คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
สำหรับในแง่ของผู้บริโภคก็มีการเปลี่ยนแปลง โดยข้อมูลจาก Mintel องค์กรสำรวจเทรนด์ทั่วโลก สรุปไว้ว่ากระแสความงามแบบรักษ์โลก สอดคล้องไปกับพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภควัยมิลเลนเนียล หรือที่เรียกกันว่าคน Gen Y ในช่วงอายุระหว่าง 20-37 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงานและเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนสังคม เริ่มหันมาคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อทำให้โลกดีขึ้น สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และมีแนวโน้มสนับสนุนแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจมากกว่า
เนื่องจาก ผู้บริโภคยุคนี้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ผู้ประกอบการจึงต้องเปิดเผยให้มาก เพราะคนที่ใส่ใจจริงๆ ตั้งแต่ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์มักจะหาข้อมูล
Transition อุตสาหกรรมความงามสู่แนวคิด ‘Green Beauty’
ด้วยเทรนด์โลกที่หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและโลกมากขึ้น รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่เริ่มออกมาบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ แบรนด์ความงามหลายแบรนด์ ทั้งสกินแคร์ เมคอัพ ไม่ว่าจะเล็ก หรือใหญ่ หันมาให้ความสำคัญกับการ Transition สู่ ‘Green Beauty’ มากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยโลก ลดปริมาณขยะและก๊าซเรือนกระจกแล้ว ส่วนผสมจากธรรมชาติที่นำมาเป็นส่วนประกอบหลักแทนสารเคมีบางตัว ยังช่วยลดการระคายเคือง สำหรับคนที่มีผิวแพ้ง่าย และบอบบางด้วย
แบรนด์เครื่องสำอางทั่วโลก ปรับตัวสู่แนวทาง ESG อย่างไรบ้าง
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ แบรนด์ความงามหลายแบรนด์ ทั้งสกินแคร์ เมคอัพ ไม่ว่าจะเล็ก หรือใหญ่ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยแต่ละแบรนด์ใส่ใจตั้งแต่การเลือกเฟ้นวัตถุดิบ ส่วนผสมที่ไม่มีสารเคมีอันตราย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งหันมาใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นในประเทศมากขึ้น เพื่อช่วยลด Carbon Footprint ที่เกิดจากการขนส่ง รวมถึงการเลือกใช้พลาสติกรีไซเคิล PCR (Post Consumer Recycled) มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ (Packing) ที่รีไซเคิลหรือย่อยสลายเองได้ ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สะอาดขึ้น โดยใช้พลังงานจากลมและแสงแดดแทน เพื่อมุ่งดำเนินการรักษ์โลกอย่างจริงจังเพื่อความยั่งยืน (Sustainability)
ยกตัวอย่าง แบรนด์ความงามสีเขียวจากทั่วโลก เช่น
3 บริษัท คือ “แลนซาเทค (LanzaTech) โททาล (Total) และลอรีอัล (L’Oreal)” ร่วมมือกันใช้นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีความยั่งยืนชิ้นแรกของโลก ที่ผลิตจากกระบวนการดักจับและรีไซเคิลก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยจากภาคอุตสาหกรรม โดยกระบวนการแปรรูปก๊าซคาร์บอนนี้มีการทำงาน 3 ส่วน คือ
แลนซาเทค ทำหน้าที่ในการดักจับก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการปล่อยจากภาคอุตสาหกรรม และนำมาแปลงเป็นเอทานอลโดยใช้กระบวนการทางชีววิทยา
โททาล ใช้นวัตกรรมที่พัฒนาร่วมกับ IFP Axens ในการแปลงเอทานอลให้เป็นเอทิลีน ด้วยกระบวนการดึงน้ำออก หลังจากนั้นทำการแปลงโพลิเมอร์ให้เป็นโพลีเอทิลีนหรือพลาสติกสังเคราะห์ ซึ่งมีคุณลักษณะทางเทคนิคที่เหมือนกับลักษณะของฟอสซิล
ลอรีอัล ใช้โพลีเอทิลีนนี้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีคุณภาพและคุณสมบัติเหมือนกับโพลีเอทิลีนแบบดั้งเดิม
ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ถือเป็นความสำเร็จทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่พิสูจน์ให้เห็นว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม สามารถนำกลับมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกได้
Dior แบรนด์เครื่องสำอางค์ชั้นนำจากฝรั่งเศส
ใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ โดยใช้ขวดแก้วและกระดาษแข็งมารีไซเคิลคิดเป็น 83% ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนจากการทำเครื่องหมายด้วยสีทองเมทัลลิคด้วยวิธี Hot Stamping เป็นการพิมพ์ด้วยหมึกออร์แกนิกสีดำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการรีไซเคิลกระปุกแก้ว และช่วยจำกัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการพิมพ์ได้ดียิ่งขึ้น ส่วนกล่องของสกินแคร์ก็ใช้กระดาษแข็งรีไซเคิล 100% และเปลี่ยนจากการใช้แผ่นพับกระดาษที่มีคำแนะนำและรายละเอียดผลิตภัณฑ์ มาเป็น QR Code แทน สามารถลดการใช้กระดาษได้อย่างมาก
The Body Shop แบรนด์ดังจากอังกฤษ
แบรนด์ที่น่าจะรู้จักกันดี เขาเป็นแบรนด์ที่ลดการใช้พลาสติก หนึ่งในกลยุทธ์ของเขาก็คือ มีการเปิด Refill Station ภายในร้าน The Body Shop ทั่วโลก ลูกค้าสามารถนำขวดที่ใช้หมดแล้ว นำกลับมาเติมใหม่ได้ ทั้งยังส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ ที่ทำมาจาก ‘พลาสติกรีไซเคิล’ อีกด้วย
ล่าสุดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอย่างมาสก์หน้า เขาเลือกใช้มาสก์แบบธรรมชาติที่ย่อยสลายเองได้ และทำด้วยไม้จากป่าที่มีการปลูกทดแทนได้ หลังจากใช้แล้วสามารถทิ้งในถังหมักที่บ้านร่วมกับขยะอินทรีย์อื่นๆ ได้ เพราะจะย่อยสลายเมื่อเวลาผ่านไปโดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อม
ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวอย่างไร
สำหรับผู้ประกอบการสายบิวตี้ของไทย ที่อยากจะเบนเข็มมาสวยรักษ์โลกบ้าง ในเบื้องต้นแนะนำให้เริ่มจากการปรับทัศนคติก่อน และควรใช้โอกาสหรือเทรนด์รักษ์โลกดังกล่าวในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่ ๆ และใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นตัวเลือกใหม่ ๆ ยกตัวอย่าง
‘เซนต์ บิวตี้ คอสเมติก’ คือหนึ่งในตัวอย่าง SME แบรนด์ความงามสีเขียวของไทย ที่เปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่ ‘Green Beauty’ เพื่อเติบโตยั่งยืนด้วยกลยุทธ์ ESG ที่ตอกย้ำคุณภาพของสินค้าที่ดี ใส่ใจค่านิยมและความต้องการของผู้บริโภค ด้วยงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี ยังมีมิติด้าน Circular Economy เช่น ผลิตภัณฑ์ครีมนวดส้นเท้าแตกจากเปลือกกล้วยหอมที่เป็นขยะเหลือทิ้งนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และลิปบาล์มสครับมะพร้าว ที่ใช้วัตถุดิบจากผงมะพร้าวแทนพลาสติกไมโครบิดส์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม มาเป็นจุดเด่นให้แบรนด์ SENSE และชีววิถี ก้าวสู่ระดับสากล ภายใต้หลักการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญเรื่องการลดขยะ Zero Waste และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม