โดรน (Drone ) ใช้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย

 

ในโลกยุคใหม่ที่ทุกคนก้าวไปข้างหน้ากับนวัตกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว  ต้องยอมรับว่ากฎหมายในเชิงควบคุมและกำกับดูแลที่เกี่ยวกับอุปกรณ์เทคโนโลยีมักเกิดขึ้นภายหลังเสมอ ซึ่งอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) หรือที่รู้จักในชื่อว่า โดรน (Drone)  ก็เช่นกัน อากาศยานไร้คนขับ บังคับโดยอุปกรณ์การควบคุมจากระยะไกล  มีทั้งขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ เริ่มพัฒนาในต่างประเทศในภารกิจทหารมาเป็นเวลานาน และแพร่หลายในประเทศไทยเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นิยมใช้ประโยชน์ในการถ่ายภาพมุมสูง เช่น การกีฬา ตรวจสภาพการจราจร การพยากรณ์อากาศ และช่วยเหลือภัยพิบัติ ในอนาคตเราอาจเห็นโดรนเป็นเสมือนอุปกรณ์ประจำบ้าน บทความนี้จึงมุ่งจะสร้างความเข้าใจเบื้องต้นแก่ผู้ใช้ หรือสนใจจะซื้อโดรนมาไว้ในครอบครองให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย การขออนุญาตและกฎการใช้เบื้องต้น

ในปี พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมใช้อำนาจตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งให้อำนาจอนุญาตและกำหนดเงื่อนไขการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ออกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยาน ซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2558 โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านความปลอดภัย มีสาระสำคัญที่ควรรู้ ดังนี้

อากาศยานที่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศนี้ คือ อากาศยานที่ควบคุมการบิน โดยผู้ควบคุมการบินอยู่ภายนอกอากาศยานและใช้ระบบควบคุมอากาศยาน แต่ไม่รวมถึงเครื่องบินเล็กซึ่งใช้เป็นเครื่องเล่นตามกฎกระทรวงกำหนดวัตถุซึ่งไม่เป็นอากาศยาน พ.ศ. 2548 ผู้ขออนุญาต คือ ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยาน การขออนุญาตจะแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการใช้ โดรน และขนาดเป็นสำคัญ

Advertisement

ประเภท 1 ใช้เพื่อการเล่นเป็นงานอดิเรก เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการกีฬา กรณีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม ไม่ต้องยื่นขออนุญาต แต่ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี หรือมีผู้แทนโดยชอบธรรมควบคุมดูแล หากน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมแต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม ต้องขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้ยื่นคำขอต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ไม่เป็นผู้มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ไม่เคยโดนโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายยาเสพติดหรือศุลกากร

ประเภท 2 ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ได้แก่ รายงานข่าว รายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ วิจัยและพัฒนาอากาศยาน หรือเพื่อการอื่น ๆ ขนาดไม่เกิน 25 กิโลกรัม ต้องขออนุญาตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยยื่นที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งเมื่อได้รับอนุญาตแล้วสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจะขึ้นทะเบียน มีอายุ 2 ปีตั้งแต่วันที่ออกหนังสือ หากขนาดเกิน 25 กิโลกรัม ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องยื่นขออนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นรายกรณีไป

สรุปง่าย ๆ คือ น้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม ไม่ติดตั้งกล้อง ใช้สำหรับงานอดิเรก ไม่ต้องขึ้นทะเบียน ถ้าติดตั้งกล้องต้องขึ้นทะเบียนทุกกรณี หรือหากไม่มีกล้องแต่มีน้ำหนักระหว่าง 2 – 25 กิโลกรัม ต้องขึ้นทะเบียน ส่วนกรณีน้ำหนักตั้งแต่ 25 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 

เงื่อนไขการใช้งาน DRONE ?

ก่อนทำการบินต้องตรวจสอบว่าอากาศยานและระบบควบคุมอากาศยานอยู่ในสภาพที่สามารถทำการบินได้อย่างปลอดภัย ได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ที่จะทำการบิน ศึกษาพื้นที่และชั้นของห้วงอากาศที่จะทำการบิน และเตรียมแผนฉุกเฉิน รวมถึงแผนกรณีเกิดอุบัติเหตุ การรักษาพยาบาล และการแก้ปัญหากรณีไม่สามารถบังคับอากาศยานได้

ระหว่างทำการบิน ห้ามบินในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และรบกวนความสงบสุขของบุคคลอื่น ห้ามบินเข้าไปในบริเวณเขตห้าม เขตจำกัด และเขตอันตรายตามที่ประกาศในเอกสารแถลงข่าวการบินของประเทศไทย (AIP – Thailand) รวมทั้ง สถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องสามารถมองเห็นอากาศยานได้ตลอดเวลาที่ทำการบิน และห้ามบังคับอากาศยานโดยอาศัยชุดกล้องบนอากาศยานหรืออุปกรณ์อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง ต้องบินในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก

ห้ามทำการบินภายในระยะ 9 กิโลเมตร (5 ไมล์ทะเล) จากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน เว้นแต่ได้รับอนุญาต ห้ามบินโดยใช้ความสูงเกิน 90 เมตร (300 ฟุต) เหนือพื้นดิน ห้ามบินเหนือเมือง หมู่บ้าน ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีคนมาชุมนุมอยู่ ห้ามบังคับอากาศยานเข้าใกล้อากาศยานซึ่งมีนักบิน ห้ามบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความรำคาญแก่ผู้อื่น ห้ามส่งหรือพาวัตถุอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรืออุปกรณ์ปล่อยแสงเลเซอร์ติดไปกับอากาศยาน ห้ามบินโดยมีระยะห่างในแนวราบกับบุคคล ยานพาหนะ สิ่งก่อสร้าง หรืออาคาร น้อยกว่า 30 เมตร (100 ฟุต)

สำหรับโดรนที่มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมขึ้นไป มีกฎกติกาเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว แต่เพิ่มในส่วนของการบำรุงรักษาอากาศยาน ความชำนาญในการบังคับอากาศยาน ความเข้าใจในกฎจราจรทางอากาศ ต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่ใช้งานได้ติดตัว มีประกันภัยต่อบุคคลที่สาม วงเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อครั้ง เพิ่มระยะห่าง เป็นไม่น้อยกว่า 50 เมตร (150 ฟุต)

คุณสมบัติของผู้ขออนุญาตเป็นผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยาน

(1) กรณีที่ใช้เพื่อรายงานเหตุการณ์หรือรายงานจราจร (สื่อมวลชน) หรือวิจัยและพัฒนาอากาศยาน การขึ้นทะเบียนต้องเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ตามนั้น ต้องระบุรายชื่อผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานหรือบุคคลที่จำเป็นในการปฏิบัติการบินของอากาศยานด้วย

(2) กรณีถ่ายภาพ การถ่ายทำหรือการแสดงในภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ หรือเพื่อการอื่น ต้องเป็นบุคคลธรรมดาอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี หรือนิติบุคคล ซึ่งผู้แทนนิติบุคคลและผู้จัดการของนิติบุคคลนั้น เป็นผู้มีพฤติการณ์ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ไม่เคยโดนโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายยาเสพติดหรือศุลกากร

สถานที่ยื่นคำขอฯ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ฝ่ายกำกับกิจการขนส่งทางอากาศ (ARD) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศ โทร.0 2 568 8814 หรือ 0 2568 8848 ทั้งนี้ มาตรา 78 (1) แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 กำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 24 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image