วันไข่โลก หรือ World Egg Day กำหนดให้ตรงกับวันศุกร์ที่สองของเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567 เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ทางด้านโภชนาการของไข่ พร้อมรณรงค์ให้ทุกคนบริโภคไข่
ในปีนี้ธีมวันไข่โลก คือ ‘รวมเป็นหนึ่งด้วยไข่’ (United by Eggs) โดยไข่เป็นอาหารที่เชื่อมโยงและรวมผู้คนจากทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน ซึ่งไข่เป็นวัฒนธรรมทางอาหารของประเทศต่างๆ ทั่วโลก สะท้อนถึงความนิยมและบทบาทสำคัญของไข่ในด้านโภชนาการระดับสากล เพราะนอกจากเป็นแหล่งโปรตีนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีประโยชน์ทางโภชนาการอย่างมากแล้ว ไข่ยังเป็นอาหารที่สร้างความเข้าใจข้ามวัฒนธรรมและส่งเสริมความสามัคคีระหว่างผู้คนในชุมชนทั่วโลก
ไข่ไก่ เป็นเมนูยอดฮิตประจำบ้าน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่าย เหมาะกับทุกคน ทุกเพศ ทุกช่วงวัย อย่างไรก็ตาม หลายคนยังมีความเชื่อว่า ไข่แดง มีคอเลสเตอรอลสูง และการบริโภคปริมาณมาก ในระยะยาวอาจนำไปสู่ปัญหาโรคหลอดเลือดและหัวใจได้
ล่าสุด ดร.นพ.นิค นอร์วิตซ์ (Dr.Nick Norwitz, PhD) นักศึกษาแพทย์ระดับปริญญาเอกแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านการเผาผลาญของสมองมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้ทำการทดลองกินไข่ 720 ฟอง ภายใน 1 เดือน ด้วยตนเอง เพื่อเป็นการพิสูจน์ความเชื่อดังกล่าว หลังการทดลองผลปรากฎว่า “คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี” ของเขาลดลงไปถึง 18 เปอร์เซ็นต์
ก่อนการทดลอง ดร.นพ.นิค ได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่าการกินไข่ 60 โหล จะไม่ทำให้ระดับ LDL (Low-Density Lipoprotein) หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีเพิ่มขึ้น
“ผมคาดการณ์ว่าการกินไข่ 720 ฟองใน 1 เดือน หรือเท่ากับคอเลสเตอรอล 133,200 มิลลิกรัม จะไม่ทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น ไม่มีการเพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าผมจะบริโภคคอเลสเตอรอลมากกว่าเดิมถึง 5 เท่า แต่คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีกลับลดลง ทั้งหมด 18 เปอร์เซ็นต์”
ดร.นพ.นิค กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่านอกจากการกินไข่ 720 ฟองแล้ว ดร.นพ.นิค มีการทำกิจกรรมการออกกำลังกายประเภทใดและความถี่เท่าใด รวมถึงพฤติกรรมการกินอื่น ๆ แต่หลังจากทดลองไปได้ 2 สัปดาห์ เขาเริ่มรับประทานคาร์โบไฮเดรตวันละ 60 กรัม โดยกินผลไม้อย่าง กล้วย บลูเบอร์รี เชอร์รี พร้อมกับเนยถั่วแมคคาเดเมีย
ดร.นพ.นิค อธิบายว่า ผู้ที่รับประทานอาหารแบบคาร์โบไฮเดรตต่ำ มักจะมีคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีเพิ่มสูงขึ้น เพราะร่างกายเริ่มเผาผลาญไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงานแทนคาร์โบไฮเดรต แต่เมื่อรับประทานคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น ร่างกายจะได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตแทน ทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดลง
ตามรายงานข่าวของ Daily Mail ระบุว่า ไข่แต่ละฟองมีคอเลสเตอรอลประมาณ 186 มิลลิกรัม นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าไข่ไม่ทำให้คอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น เนื่องจากคอเลสเตอรอลจะจับกับตัวรับบนเซลล์ในลำไส้ ซึ่งจะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า Cholesin ฮอร์โมนนี้จะเดินทางผ่านกระแสเลือดไปยังตับ และจับกับตัวรับที่ชื่อ GPR146 เพื่อส่งสัญญาณไปยังตับให้ลดการผลิตคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL)
ขณะที่รายงานของ นิวยอร์กโพสต์ มีผลการศึกษาพบว่าผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ รวมทั้งโรคเบาหวาน ซึ่งรับประทานไข่ 6 – 12 ฟองต่อสัปดาห์ ไม่ได้ส่งผลเสียต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดทั้งหมด หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ แต่กลับทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิด “ดี” (HDL) เพิ่มขึ้น