เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุม คณะทำงานเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร โดยมี นายวีรวัฒน์ ยมจินดา รองประธานคณะทำงานเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร คณะทำงานฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในการประชุม ณ ห้องประชุม 131 ศาลาว่าการเมืองพัทยา
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ก็.พี่. 2567 ได้ลงนามในคำสั่งเมืองพัทยาที่ 631/2567 แต่งตั้งคณะทำงานเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เมืองพัทยา ประกอบกับเข้าสู่การทำงานปีงบประมาณใหม่ 2568 จึงจัดให้มีการประชุมคณะทำงานเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กรในครั้งนี้ โดยมี เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ระดมความคิดเห็น และเดินหน้าการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณชนแบบเชิงรุก
ทั้งนี้ ในการประชุม นายกเมืองพัทยา ได้กล่าวขอบคุณคณะทำงานฯ และขอให้ร่วมกันระดมความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสม และขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารพร้อมทั้งกิจกรรมของเมืองพัทยาสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีใหักับเมืองพัทยาต่อไป
ด้าน นายวีรวัฒน์ ยมจินดา รองประธานคณะทำงานเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการประชุมว่า ในที่ประชุมได้มีการติดตามความคืบหน้าโครงการประหยัดพลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Low Carbon ติดตั้งโซล่าร์เซลส์ ศาลาว่าการเมืองพัทยา และความคืบหน้าในการนำน้ำเสียหลังการบำบัดกลับมาใช้ประโยชน์หรือเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
“โครงการประหยัดพลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Low Carbon นั้นนายปรเมศวร์ นายกเมืองพัทยา ได้กำชับ ให้คณะทำงานพิจารณาถึงความคุ้มค่า ระหว่างการว่าจ้าง กฟภ.ดำเนินการ ซึ่งสามารถทำให้เมืองพัทยาได้เพียง 200 กิโลวัตต์ งบประมาณดำเนินการ 7 ล้านบาท ดูแล้วยังไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร แต่หากเมืองพัทยาจะดำเนินการเอง โดยอาจจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ กฟภ.เป็นพี่เลี้ยง จะสามารถทำได้มากกว่า 200 กิโลวัตต์หรือไม่ และในอนาคตหากเมืองพัทยามีความเชี่ยวชาญแล้ว ก็จะสามารถดำเนินการได้เองอย่างเต็มระบบ และประหยัดงบประมาณไปได้อีกมาก รวมทั้งฝากให้สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำธนาคารคาร์บอนกรีน โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตร และชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างจิตสำนึกและรณรงค์ให้ประชาชนหันมาตระหนักและใส่ใจในการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นายวรวัฒน์กล่าว
นายวีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนในเรื่องการนำน้ำเสียหลังการบำบัดกลับมาใช้ประโยชน์หรือเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งสำนักช่างสุขาภิบาลได้วางแนวทางไว้ 3 แนวทาง คือ 1. ทำเอง ลงทุนเอง ซึ่งอาจใช้เงินทุนสูง และใช้ระยะเวลานานกว่าจะคุ้มทุน 2. ร่วมลงทุน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานในการผ่านความเห็นชอบของมติ ครม. ที่ประชุมจึงมีมติตรงกันว่าแนงทางที่ 3 เหมาะสมที่สุด คือขายให้เอกชน โดยให้เอกชนมารับซื้อหน้าโรงบำบัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่าง TOR
“พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังมีการรายงานผลงานข่าวการสร้างภาพลักษณ์เมืองพัทยาในรอบเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ เมืองพัทยาได้คะแนน ITA จากสำนักงาน ป.ป.ช. ถึง 98.94% ซึ่งเป็นผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment ITA), เทศกาลพลุนานาชาติเมืองพัทยา ที่ได้รับรางวัลระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท Best Emergency Preparedness & Risk Management Plan เป็นงานเทศกาลที่มีแผนการเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ฉุกเฉินและการบริหารความเสี่ยงในการจัดงานเทศกาลที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2024 และปัจจุบันได้ดำเนินโครงการ “คุณกั๊ก เราเก็บ” สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนไม่จอดรถในพื้นที่ห้ามจอด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนและองค์กรต่างๆ ถือเป็น 3 ผลงานข่าวที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเมืองพัทยา” นายวีรวัฒน์กล่าว