ยกระดับท่าอากาศยานภูมิภาค เพิ่มมาตรฐานด้านความปลอดภัยและการให้บริการ

ปัจจุบันการเดินทางโดยเครื่องบินได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนบางแห่งมีผู้โดยสารแน่นล้นท่าอากาศยาน แม้แต่ที่ท่าอากาศยานขนาดใหญ่อย่างสุวรรณภูมิ และดอนเมืองซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ  เพราะนอกจากจะประหยัดเวลาในการเดินทางแล้ว ยังมีราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถใช้บริการได้สะดวกมากขึ้น จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล การพัฒนาพื้นที่ การขยายตัวของการค้าและการลงทุน ทำให้ท่าอากาศยานที่มีอยู่เดิมไม่สามารถรองรับหรือให้บริการได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ การเพิ่มศักยภาพทางด้านการบินจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถรองรับการเดินทางได้อย่างเพียงพอ มีความสะดวก สบายยิ่งขึ้น

กระทรวงคมนาคม โดยการนำของ “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นและสร้างบรรยากาศในการลงทุน โดยเฉพาะการขนส่งทางอากาศ เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน อีกทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคอาเซียน

การพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค เป็นอีกหนึ่งโครงการที่กระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันให้เกิดขึ้นโดยมุ่งหวังว่าจะเสริมสร้างศักยภาพของท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแลของกรมท่าอากาศยานทั้ง 28 แห่ง ให้มี  “มาตรฐานด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย” ตามมาตรฐานขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนภายในปี 2561 และพัฒนาท่าอากาศยานที่มีอยู่เดิมให้ใช้งานเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อ“เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ” รองรับความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสารและปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันที่รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 30 ล้านคน/ปี เป็น 58 ล้านคน/ปี ภายในปี 2568

แผนการพัฒนาท่าอากาศยานภายใต้การบริหารของกรมท่าอากาศยาน ได้กำหนดกรอบในการบริการจัดการท่าอากาศยานต่าง ๆ ให้เหมาะสม เช่น พัฒนาและก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร ขยายทางวิ่งทางขับ ลานจอดเครื่องบิน เพื่อรองรับอากาศยานเพิ่มขึ้นและที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ การจัดให้มีระบบขนส่งสาธารณะให้เข้าถึงท่าอากาศยานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร สถานที่จอดรถ เป็นต้น โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (พ.ศ. 2560 – 2569) ในวงเงินร่วม 36,349.24 ล้านบาท แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่

Advertisement

ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560 – 2564) กรอบวงเงิน 23,956.29 ล้านบาท ประกอบด้วย การพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ นครศรีธรรมราช ขอนแก่น ตรัง นราธิวาส โครงการแก้ไขข้อบกพร่องด้านความปลอดภัย และการจัดซื้อรถดับเพลิง

ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2569) กรอบวงเงิน 12,392.95 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนครราชศรีธรรมราชและท่าอากาศยานตรัง ต่อเนื่องจากระยะที่ 1 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี อุดรธานี ร้อยเอ็ด ลำปาง สกลนคร เลย และการปรับปรุงขยายความกว้างทางวิ่ง ลานจอดเครื่องบิน ท่าอากาศยานหัวหิน

สำหรับการสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย เพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบของ ICAO ในปี 2561 กรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ สุราษฎร์ธานี และอุดรธานี  ในปี 2560 จะดำเนินการอีก 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานขอนแก่น  นครศรีธรรมราช ตรัง และอุบลราชธานี เพื่อให้ท่าอากาศยานเหล่านี้เป็นท่าอากาศยานนำร่องในการสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัย จากนั้นจะทยอยดำเนินการในส่วนของท่าอากาศยานที่เหลือให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

Advertisement

หากจะแบ่งกลุ่มท่าอากาศยานภูมิภาคทั้ง 28 แห่งของกรมท่าอากาศยาน จะมีกลุ่มท่าอากาศยานที่มีศักยภาพสูง จำนวน 6 แห่ง คือ ท่าอากาศยานกระบี่ อุดรธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี  อุบลราชธานี และนครศรีธรรมราช กลุ่มที่มีศักยภาพปานกลาง จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน พิษณุโลก ตรัง และนราธิวาส กลุ่มที่มีศักยภาพน้อย 9 แห่ง ได้แก่ สกลนคร ร้อยเอ็ด นครพนม บุรีรัมย์ ปาย น่าน ลำปาง หัวหิน และระนอง ส่วนท่าอากาศยานที่ยังไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการ ได้แก่ นครราชสีมา เลย แม่สอด ตาก แม่สะเรียง แพร่ เพชรบูรณ์ ชุมพร และปัตตานี

แนวทางในการพัฒนาท่าอากาศยานแต่ละกลุ่ม จะพิจารณาให้มีความเหมาะสมของท่าอากาศยานแต่ละแห่ง เช่น ท่าอากาศยานที่มีศักยภาพจะพัฒนาให้เป็นท่าอากาศยานที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจทั้งภายในและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ท่าอากาศยานขอนแก่น กระบี่ เป็นต้น ส่วนท่าอากาศยานบางแห่ง เช่น ท่าอากาศยานนครราชสีมา จะใช้เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานและศูนย์ผลิตบุคลากรด้านการบิน ท่าอากาศยานบุรีรัมย์เป็นอีกหนึ่งแห่งที่สามารถพัฒนา เนื่องจากเป็นท่าอากาศยานใกล้กับประเทศเพื่อนบ้าน มีแหล่งท่องเที่ยวหลายแหล่ง และสนามกีฬาระดับโลกตั้งอยู่ และมีแนวโน้มความต้องการในการเดินทางมากขึ้น

ทั้งนี้ ตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 (Action plan 2560) ของกระทรวงคมนาคม ได้กำหนดแผนงานในการขยายท่าอากาศยานซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ 4 แห่ง คือ ท่าอากาศยานแม่สอด ท่าอากาศยานเบตง ท่าอากาศยานสกลนคร และท่าอากาศยานกระบี่ ให้สามารถรองรับความต้องการในการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้นให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 นี้

การพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคของกระทรวงคมนาคมครั้งนี้ จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการ “ปลดล็อค” ปัญหาต่าง ๆ ทั้งในด้านของมาตรฐานความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย และยกระดับการให้บริการให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการค้าการลงทุนในระดับภูมิภาค และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image