เปิดเวทีประชุมวิชาการหม่อนไหม ปี 2560 ขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ยุค Thailand 4.0

 

กรมหม่อนไหมเปิดเวทีวิจัยหม่อนไหม ระดมนักวิชาการด้านหม่อนไหมทั่วประเทศ  ทั้งภาครัฐและเอกชน นำเสนอและร่วมวิเคราะห์ผลงานทางวิจัยด้านหม่อนไหมเพื่อแก้ไขปัญหา ตามนโยบายของรัฐบาล ที่พยายามมุ่งเน้นให้มีการขับเคลื่อนการวิจัยนำมาใช้ประโยชน์ในทางพาณิชย์และการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ยุค Thailand 4.0

นายธนิตย์  อเนกวิทย์  รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธี  เปิดการประชุมวิชาการด้านหม่อนไหม ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ที่โรงแรมมารวยการ์เด้นว่า ภารกิจของกรมหม่อนไหมนอกจากดูแลหม่อนไหมทั้งระบบของประเทศไทยแล้ว เจ้าหน้าที่ยังมีหน้าที่ปฏิบัติงานวิจัยเน้นการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยต้นทุนต่ำ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์หม่อนไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การพัฒนาสิ่งทอและการแปรรูปผลิตภัณฑ์กับประเทศอื่นๆ ได้ เป็นผลให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในประเทศไทยมีความกินดีอยู่ดี ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช

กรมหม่อนไหมให้ความสำคัญต่องานวิจัย เพื่อการพัฒนางานด้านหม่อนไหมให้มีความก้าวหน้า พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพสูงสามารถคิดค้นนวัตกรรมได้ และมีการค้นคว้าหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ  เพื่อนำประโยชน์จากข้อเท็จจริง ปัญหาอุปสรรค มาปรับปรุงพัฒนาเป็นงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่พยายามมุ่งเน้นให้มีการขับเคลื่อนการวิจัยนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง  ซึ่งการประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนแนวคิด เพิ่มพูนความรู้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม และนักวิจัยจากหลากหลายหน่วยงานจะร่วมกันผสานองค์ความรู้ในการพัฒนางานวิจัย ประยุกต์ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมใหม่ๆ มีส่วนร่วมกันในกันผลักดันให้งานวิจัยของกรมหม่อนไหมพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป และสนองนโยบายของรัฐบาล ผลักดันงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อการขับเคลื่อนประเทศชาติให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยทุกฝ่ายต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น มีการเพิ่มเติมศึกษาเทคโนโลยีที่ควรใช้ให้เป็น เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้ชีวิตเร็วขึ้น ง่ายขึ้น สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ยุค Thailand 4.0 ส่งผลให้สินค้าหม่อนไหมของไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน มีการพัฒนาจากเทคโนโลยีเดิมเปลี่ยนเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คิดค้น สู่การเกษตรสมัยใหม่ที่ทำให้เกษตรกรมีทักษะสูง สามารถเป็นผู้ประกอบการเองได้  พร้อมกันนี้กรมหม่อนไหมมีการกำหนดนโยบายด้านงานวิจัยให้สอดคล้องและเหมาะสม สามารถรองรับสถานการณ์เหล่านี้ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่อันสำคัญยิ่งของนักวิจัยที่จะยึดประโยชน์ของเกษตรกรเป็นลำดับแรก

Advertisement

นางสุดารัตน์ วัชคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า การประชุมวิชาการของกรมหม่อนไหมได้ดำเนินการมาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อให้เกิดโอกาสที่นักวิชาการภายในและภายนอกกรมหม่อนไหม ได้รับทราบผลงานวิชาการเชิงนวัตกรรมของกรมหม่อนไหมทุกปี ยังผลให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน สามารถมีงานวิจัยพัฒนา ต่อยอดจากองค์ความรู้ดังกล่าวให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตามกรอบยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศในระยะยาว 20 ปี และโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย หรือ Thailand 4.0 โดยมีการใช้นวัตกรรมเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้งานวิจัยมีจุดแข็งและเพิ่มคุณค่าให้แก่ผลงาน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันแก่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของประเทศไทย

การประชุมวิชาการในปีนี้ มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “เป้าหมายการพัฒนาหม่อนไหมที่ยั่งยืน”  โดย ดร.จิตติ มังคละศิริ  หัวหน้าห้องปฏิบัติการการประเมินวัฏจักรชีวิต หน่วยวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเรื่อง “การวิจัยและพัฒนา สิ่งทอเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ไหมไทย” โดย ดร.บิณฑสันต์ ขวัญข้าว หัวหน้าฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

สำหรับรางวัลผลงานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมวิชาการหม่อนไหมปีที่ผ่านมา คือปี 2559 นั้น รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ได้แก่  เรื่องผลการบริโภคหม่อนต่อระดับไขมันในเลือด การต้านอนุมูลอิสระและการอักเสบในผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง โดย นางพัชราณี ภวัตกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล   องค์ประกอบเคมีพื้นฐานและความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของหนอนไหมและดักแด้ไหมไทย โดย นายสมชายจอมดวง คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และผลของสารสกัดดักแด้ไหมไทยต่อการกระตุ้นการขยายตัวของหลอดเลือด โดย นายวิโรจน์ แก้วเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์หม่อนไหม กรมหม่อนไหม

Advertisement

ส่วนผลงานวิจัยระดับดี ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาชงใบหม่อนผสมผลหม่อน โดยนายธนกิจ ถาหมี  ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ แพร่ ผลของ 1-Methylcyclopropene และ Hexanal ต่ออายุการเก็บรักษาและคุณภาพหม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่ โดยนายแดนชัย แก้วต๊ะ สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 1 จังหวัดแพร่ และการศึกษาประสิทธิภาพการย้อมติดสีธรรมชาติของเส้นไหมโดยการดัดแปรพื้นผิวทางกายภาพด้วยการฉายรังสีอัลตราไวโอเลต โดยนางสาวศศิพิมพ์ ลิ่มมณี สำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม

สำหรับการผลงานทางวิชาการหม่อนไหมในปีนี้ เป็นการนำเสนอของนักวิชาการทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการเพิ่มผลผลิตรังไหมโดยใช้สารละลายโปตัสเซียมไอโอไดด์ (ไหมจัมโบ้) การวิจัยและพัฒนาการนำไหมดาหลามาใช้ประโยชน์ การศึกษาประสิทธิภาพการผลิตไข่ไหมอีรี่และการศึกษาต้นทุนการผลิตไข่ไหมอีรี่ การศึกษาการผลิตไข่ไหมอีรี่เพื่อใช้ในระบบอุตสาหกรรม การพัฒนาศักยภาพโลจิสติกส์ไหมไทยและปฏิบัติการประยุกต์ใช้ตัวแบบโลจิสติกส์ในกลุ่มโซ่อุปทานเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การวิจัยประสิทธิภาพการป้องกันมะเร็งของสารสกัดดักแด้ไหมไทย เป็นต้น

จากการประชุมวิชาการหม่อนไหมนี้จะทำให้ผู้บริหารและนักวิชาการด้านหม่อนไหมทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผลงานวิชาการและนวัตกรรมหม่อนไหม สามารถ    นำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในงานของตนเองและหน่วยงาน  เกิดการพัฒนาต่อยอดความรู้ด้านวิชาการหม่อนไหมและสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image