ARDA โชว์นวัตกรรมใหม่!! แคปซูลต้นแบบสกัดจาก “เห็ดพิมาน” ประสิทธิภาพสูง

 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) – ARDA สนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะวิจัย
จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิจัยนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงเส้นใยเพาะเลี้ยงจากเห็ดเฟลลินัส หรือเห็ดกระถินพิมานเดินหน้าสกัดสารพอลิแซ็กคาไรด์และพัฒนานวัตกรรมยาแคปซูลต้นแบบ ต้านกลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่เป็นปัญหาสุขภาพและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย พร้อมต่อยอดสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม BCG ด้วยมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับสำหรับการก้าวเข้าสู่การแข่งขันในระดับสากลได้อย่างยั่งยืน

นายวิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ARDA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดสมุนไพรให้ได้สารสกัดพร้อมใช้ที่มีปริมาณสารสำคัญสูง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาชีววัตถุหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพชนิดใหม่ ด้วยกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายน้อยกว่ายาเคมีสังเคราะห์ โดยขับเคลื่อนตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ ด้วยการพัฒนาสินค้าเกษตรมูลค่าสูง “ผลิตน้อย แต่สร้างรายได้มาก”

ปัจจุบันตลาดสมุนไพรได้รับความนิยมและมีการนำไปใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากมูลค่าการบริโภคสมุนไพรของโลกที่มากถึง 54,957 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก มีมูลค่าการบริโภคสมุนไพร 1,483.5ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ทั้งการบริโภคสดและแปรรูปเป็นอาหารอาหารเสริม อีกทั้งนำมาใช้เป็นสมุนไพรทางเลือกในการรักษาปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพอันดับ 1 ของประเทศไทยและของโลก อีกทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญและเป็นสาเหตุนำไปสู่การพัฒนากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NSDs) ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะไขมันสูงในเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย
โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคเบาหวานรายใหม่รอบ 5 ปี จำนวน 1.5 ล้านคน และความดันโลหิตรายใหม่ 2 ล้านคน ดังนั้นหากมีการป้องกันการเกิดโรคที่ดี โดยเฉพาะโรคกลุ่ม NCDs ซึ่งหากลดอัตราการเกิดโรคได้เพียงร้อยละ 10 ก็จะสามารถลดงบประมาณด้านการดูแลรักษาลงได้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี (สวรส.,2564)

ADVERTISMENT

สำหรับโครงการ “การเพิ่มศักยภาพการผลิตสารสกัดพอลิแซ็กคาไรด์พร้อมใช้ที่ได้มาตรฐานปริมาณมากจากเส้นใยเพาะเลี้ยงของเห็ดเฟลลินัส และการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมแคปซูลพิชิตไขมันและเวชสำอางสเปรย์บำรุงผิวหน้าและต้านสิวเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG Model (โครงการระยะที่ 3) เป็นอีกหนึ่งในโครงการวิจัยที่ ARDA ให้การสนับ
สนุนทุนวิจัยมา 3 ระยะ ดังนี้

ADVERTISMENT

การดำเนินโครงการวิจัยระยะที่ 1 (ปี 2563) สามารถศึกษาและเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดทำให้ได้กรรมวิธีการผลิตสารสกัดพอลิแซ็คคาไรด์พร้อมใช้จากห้องปฏิบัติการ และผ่านการทดสอบเอกลักษณ์ทางเภสัชเวทว่ามีปริมาณสารออกฤทธิ์ในการป้องกันและควบคุมภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นรายแรกของประเทศไทย มีปริมาณพอลิแซกคาไรด์ และเบตา-กลูแคนและความหลากชนิดของมอโนแซ็คคาไรด์สูงกว่าธรรมชาติ นอกจากนี้ยังผ่านการทดสอบแล้วว่าไม่แสดงความเป็นพิษต่อร่างกาย ต้านการสะสมหยดไขมัน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบ

การดำเนินโครงการวิจัยระยะที่ 2 (ปี 2565) เป็นการวิจัยการประเมินผลความปลอดภัยและประสิทธิภาพของสารสกัดพอลิแซ็คคาไรด์จากโครงการที่ 1 ในการยับยั้งการสะสมลิพิดในเซลล์ไขมันในหนูแรท สัตว์ตัวแบบที่มีภาวะอ้วนไขมันในเลือดสูง กลูโคสในเลือดสูง และไขมันสะสมตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ภายหลังการได้รับอาหารที่พัฒนาขึ้น และใช้เทคนิคจีโนมิกส์และเทคนิคอนุพันธุศาสตร์สมัยใหม่พบว่า สามารถออกฤทธิ์ต้านการสร้างการสะสมไขมันซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ในการป้องกันการสร้างและสะสมไขมันในเซลล์ร่างกาย และป้องกันการเกิดไขมันพอกตับ ลดการอักเสบของตับเนื่องจากมีไขมันพอกตับสูง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบ ซึ่งสามารถขึ้นทะเบียนกับอย. เพื่อต่อยอดเป็นยาชีววัตถุและจดแจ้งเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางบำรุงผิวหน้า

การดำเนินโครงการวิจัยระยะที่ 3 (ปี 2567) พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมยาแคปซูลต้านไขมัน ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตสารสกัดพอลิแซ็คคาไรด์พร้อมใช้ที่ได้มาตรฐานสากลในปริมาณมากจากเห็ดเฟลลินัส พร้อมควบคุมคุณภาพและศึกษาความคงตัวของยาแคปซูลตามเกณฑ์เภสัชตำรับสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมการผลิตในระดับอุตสาหกรรม เพื่อนำไปต่อยอดการทดสอบทางคลินิกในระยะที่ 4 โดยจะนำต้นแบบนวัตกรรมยาแคปซูลและสเปรย์บำรุงผิวหน้าไปทดลองประสิทธิภาพและความปลอดภัยทางคลินิกในอาสาสมัครสำหรับต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในปี 2569

ด้าน รศ.ดร.พนิดา เล้าชาญวุฒิ หัวหน้าคณะวิจัยฯ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า “จากการที่ทีมผู้วิจัยได้ทำงานร่วมกับทีมแพทย์ นักวิจัย และผู้ป่วย พบว่าอยากให้นักวิจัยไทยร่วมกันวิจัยผลิตชีววัตถุจากธรรมชาติเพื่อป้องกันรักษาโรคอ้วนและภาวะไขมันสูงในเลือดจากเห็ดสกุลเฟลลินัสเพราะเป็นเห็ดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในฐานะยาสมุนไพร การวิจัยในครั้งนี้หัวใจหลักจะอยู่ที่การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในกระบวนการเพาะเลี้ยงและสกัดสารสำคัญให้ได้ปริมาณมากกว่าดอกเห็ดในธรรมชาติและได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อสร้างเป็นเกษตรมูลค่าสูงสำหรับเจาะตลาดเห็ดสุขภาพเชิงพาณิชย์ ซึ่งในประเทศไทยยังไม่เคยมีงานวิจัยที่ศึกษาสภาวะและปัจจัยในกระบวนการเพาะเลี้ยงเส้นใยของเห็ดเฟลลินัสในปริมาณมาก และนำมาใช้ประโยชน์ในด้านนี้มาก่อน เนื่องจากต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา และวัสดุและสารเคมีที่มีราคาสูง ต้องขอขอบคุณ ARDA ที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนทุนวิจัย ซึ่งมั่นใจว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมวงการสมุนไพรอย่างแน่นอน นอกจากนี้ทางคณะวิจัยมีแผนจะนำเส้นใยเห็ดที่ได้จากห้องปฏิบัติการกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์และช่วยเพิ่มปริมาณห็ดในธรรมชาติ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image