“ARDA” เดินหน้าขยายผลงานวิจัยสู่ชาวไร่อ้อย หลังเผชิญวิกฤติต้นทุนผลิตพุ่ง – ผลผลิตลด

“ARDA” เดินหน้าขยายผลงานวิจัยสู่ชาวไร่อ้อย หลังเผชิญวิกฤติต้นทุนผลิตพุ่ง – ผลผลิตลด
ยกระดับการผลิตด้วยเทคโนโลยีบริหารจัดการแปลงปลูกด้วยระบบ “เกษตรแม่นยำ”

ARDA ผนึกกำลัง KU เดินหน้าถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่สู่การบริหารจัดการแปลงปลูกคุณภาพ
หลังเกษตรกรชาวไร่อ้อยไทยต้องเผชิญปัญหาการเพาะปลูกส่งผลกระทบต่อผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำกว่าประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อื่นๆ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารจัดการแปลงปลูกอ้อยจากนวัตกรรมงานวิจัยในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต ควบคุมคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการวางแผนการปลูกอ้อยที่เหมาะสมตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า “อ้อย” หนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ที่เป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมน้ำตาล ปัจจุบันภาคการเกษตรไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านต้นทุนสูง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการบริหารจัดการเพาะปลูกซับซ้อน อีกทั้งเกษตรกรชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่มีการบริหารจัดการแปลงเพาะปลูกและการผลิตพืชแบบดั้งเดิมจากความเคยชิน ตั้งแต่การปลูก การให้น้ำ การให้ปุ๋ย การเก็บเกี่ยวผลผลิต การซื้อขายผลผลิตที่มีการรวมกลุ่มตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก ตลอดจนการจัดการโควตาซื้อขายผลผลิตแก่โรงงานน้ำตาล อย่างไรก็ตาม ด้วยการกระจัดกระจายของพื้นที่แปลงเพาะปลูก ตลอดจนปฏิทินการเพาะปลูกที่มีความหลากหลายค่อนข้างมาก ล้วนแต่ส่งผลให้การบริหารจัดการดำเนินการได้อย่างยากลำบาก อีกทั้งผู้จัดการแปลงหรือตัวแทนกลุ่มเกษตรกรขาดเครื่องมือในการติดตามสถานะการเพาะปลูกของเกษตรกรแต่ละราย

ADVERTISMENT

ทำให้การคาดการณ์ผลผลิตทำได้ยากทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ส่งผลต่อการต่อรองและการจัดการซื้อขายผลผลิตสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA จึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการ ถ่ายทอดนวัตกรรมดิจิทัลทางด้านการเกษตรเพื่อยกระดับศักยภาพ กระบวนการเพาะปลูกและการจัดการแปลงอ้อยในกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะปลูกอ้อยในพื้นที่ภาคตะวันตก” เพื่อยกระดับศักยภาพในการจัดการแปลงเพาะปลูกอ้อยตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสามารถของกลุ่มเกษตรกรและอำนาจในการต่อรองการซื้อขายอ้อย โดยโครงการนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยต้นแบบเข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 5,000 ไร่ ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี และราชบุรี ซึ่งจากการประเมินผลการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย พบว่าโครงการนี้สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมได้ 531,335 ล้านบาท สามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 12,605,000 บาท

ADVERTISMENT

ด้าน ผศ.ดร.จักกริช พฤษการ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวเสริมว่า โครงการวิจัยนี้ เป็นการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาช่วยในการจัดการกระบวนการเพาะปลูกที่เหมาะสม ถูกต้องตามหลักวิชาการ ย่อมส่งผลให้เกษตรกรสามารถใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ประหยัดต้นทุนในการผลิต ควบคุมคุณภาพและปริมาณผลผลิต

ซึ่งได้นำแอปพลิเคชัน CropIrisX Community มาช่วยให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ โดยใช้ข้อมูลสภาพอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลดิน มาวิเคราะห์และคำนวณค่าต่างๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่แต่ละไร่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนแผนการปลูกให้ทันต่อสถานการณ์ สามารถลดต้นทุนในกระบวนการดำเนินงานด้วยการใช้ทรัพยากรที่จำเป็น อาทิ ค่าแรงงาน ค่าเชื้อเพลิง ค่าน้ำ ฯลฯ และได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ซึ่งผลตอบรับจากเกษตรกร พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจโดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการคาดการณ์ปริมาณฝนและเวลาที่ฝนจะตกในพื้นที่ของตนเอง รวมถึงการประเมินความชื้นในดินและการแนะนำกำหนดการให้น้ำ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการวางแผนงานในการให้น้ำแก่อ้อยโดยตรง นอกจากนี้ ทางโครงการยังได้พัฒนาแปลงสาธิตภายใน “ศูนย์การเรียนรู้ศรีเกษตรโภคทรัพย์” เพื่อนำแอปพลิเคชันไปใช้งานร่วมกับระบบ IOT สำหรับการเพาะปลูกอ้อยและพืชผสม โดยพื้นที่ปลูกอ้อยให้น้ำแบบร่องคู พื้นที่นาข้าวให้น้ำแบบท่วมเป็นอ่าง พื้นที่ปลูกผักสวนครัวให้น้ำแบบสปริงเกอร์ และโรงเรือนปลูกมะเขือเทศให้น้ำแบบเทคโนโลยีน้ำหยด เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้และทดลองใช้เพื่อที่จะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับการทำการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เพราะการทำเกษตรที่ดี ต้องเริ่มต้นจากข้อมูลที่แม่นยำ … โครงการวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นถึงผลสำเร็จจากการนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้กับภาคการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เพาะปลูกอ้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้านทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงขณะที่เกษตรกรต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการแปลงได้อย่างแม่นยำ สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการนำนวัตกรรมใหม่มาปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรกร ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน” ดร.วิชาญ ผอ. ARDA กล่าวในตอนท้าย  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image