แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ถือเป็นช่วงเวลาพิเศษของเทศกาลวาเลนไทน์ ซึ่งกรมอนามัยอยากสนับสนุนการมอบความรักระหว่างแม่และลูกให้อบอวลไปด้วยสายใยที่อบอุ่นผ่านนมแม่ในวาเลนไทน์ปีนี้ด้วยสูตร 1-6-2 โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เน้นย้ำถึงการส่งเสริมสุขภาพด้วยความมุ่งมั่น สนับสนุน และปกป้องให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และ
ยูนิเซฟ ทั้งนี้สูตร 1-6-2 หมายถึงช่วงเวลาการให้นมแม่ โดย 1 คือ “1st Golden Hour” การให้นมแม่ทันทีในช่วง 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด หรือเรียกว่า ชั่วโมงทอง ที่จะช่วยกระตุ้นเซลล์สมองทารกให้เชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็ว ส่วน 6 คือการให้นมแม่เพียงอย่างเดียวช่วงทารก 6 เดือนแรกหลังคลอด เพราะนมแม่มีสารอาหารที่เหมาะสมและง่ายต่อระบบย่อยอาหารของทารก และ 2 คือการให้นมแม่ต่อเนื่องควบคุมกับอาหารตามวันตั้งแต่เดือนที่ 6 ไปจนถึงลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ซึ่งนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาสมองและระบบประสาททารก มีแอนติบอดี้และสารภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อและลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยในทารกได้ มีสารอาหารช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเติบโตแก่ทารก อีกทั้งยังช่วยสร้างสัมพันธภาพระหว่างแม่ลูกให้มีความผูกพันกัน รวมถึงยังช่วยให้คุณแม่ลดเสี่ยงโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคหัวใจ เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว กรมอนามัย ยังส่งเสริมให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นสำหรับคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงานหลังคลอดลูก โดยกรมอนามัยได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งแอร์เอเชีย นครชัยแอร์ และบขส. ส่งมอบน้ำนมแม่สู่ลูกรักฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 อย่างต่อเนื่อง โดยคุณแม่ที่ต้องการส่งนมแม่ผ่านโครงการนี้ สามารถตรวจสอบและดูรายละเอียดเส้นทางการขนส่งนมแม่ หรือสอบถามขั้นตอนการแพ็คนมและการใช้งานเพิ่มเติมได้ที่ Line id @anamaimilk
ด้าน นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวเสริมว่า กรมอนามัย จะขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มสตรีและเด็กอย่างเต็มที่ โดยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือนให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2568 ซึ่งแม้ว่าผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2565 พบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน จะมีเพียงร้อยละ 28.6 และยังต่ำกว่าหลายประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน แต่จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ในช่วงปี 2561-2566 ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และภาพรวมของเด็กแรกเกิด – ต่ำกว่า 6 เดือนกินนมแม่อย่างเดียวในปี 2566 เท่ากับร้อยละ 60.53 โดยเขตสุขภาพที่ 9 มีเด็กแรกเกิด – ต่ำกว่า 6 เดือนกินนมแม่อย่างเดียวสูงที่สุดเท่ากับร้อยละ 79.32 รองลงมาคือ เขตสุขภาพที่ 3 ร้อยละ 73.22 และในเขตสุขภาพอื่น ๆ ผ่านเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 50 ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม สำนักส่งเสริมสุขภาพ
กรมอนามัย จะยังคงเดินหน้าส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือนต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแม่และลูก ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการเติบโตที่จะส่งผลต่อการพัฒนาสุขภาวะในกลุ่มสตรีและเด็กของประเทศให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น