วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 น. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดย กองพัฒนานักศึกษา คณะกรรมการองค์การนักศึกษา จัดพิธีอัญเชิญตราพระราชลัญจกร ประจำปีการศึกษา 2567 เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “ราชภัฏ” และ “ตราพระราชลัญจกร” ส่วนพระองค์แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ตลอดจนเพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่นักศึกษาให้เกิดความภาคภูมิในในสถาบัน
โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นประธานในพิธี จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายสักการะ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ คล้ายสังข์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา กล่าวน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ในพิธีผู้แทนนักศึกษาได้อัญเชิญตราพระราชลัญจกรและเครื่องราชสักการะ พานพุ่มทอง พานพุ่มเงิน พานดอกไม้ ธงชาติไทย ธงประจำพระองค์ เข้าร่วมในขบวนอัญเชิญตราพระราชลัญจกร ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประจำปีการศึกษา 2567 ขึ้นบนเวทีถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์
กล่าวบทอาเศียรวาท ถวายราชสักการะ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดย นายธนพล เจ๊กทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะครุศาสตร์ สาขาภาษาไทย
กล่าวรายงานการจัดพิธีอัญเชิญตราพระราชลัญจกร โดย นายชัยวัฒน์ จรูญรัตน์ นายกองค์การนักศึกษา
ผู้อัญเชิญตราพระราชลัญจกร – นางสาวฐิชญา กลึงวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการตลาด
ผู้เชิญพานพุ่มเงิน – นางสาวกนกอร จำปาทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย
ผู้เชิญพานพุ่มทอง – นายธีรภัทร โคงัน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์
ผู้เชิญพานดอกไม้
– นางสาวกุงเกียมาลิสา คอน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ
– นางสาวสุชาวดี แตนิล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสนิติศาสตร์ สาขาวิชานิติศาสตร์
– นางสาวกรรณิการ์ เชิญชม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาเทคโนโลยีความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
– นางสาววรางค์รัตน์ บัวจูม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะการจัดการอุตสากรรมบริการ สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ
ผู้เชิญธงชาติ
– นายพสกร สิงห์ธนะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะครุศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ
– นายอภิเดช ภู่จันทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาอังกฤษธุรกิจ
ผู้เชิญธงประจำพระองค์
– นายสภาวสุ ปรีบัว นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการบัญชี
– นายสหรัตน์ รวมธรรม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
ความสำคัญของพิธีในครั้งนี้
14 กุมภาพันธ์ วันมหาวิทยาลัยราชภัฏ
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันแห่งความรักแล้ว ยังถือเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์การศึกษาไทย และของชาวราชภัฏทั่วประเทศอีกด้วยอีกด้วย นั่นคือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” แทน “วิทยาลัยครู”
ทั้งนี้ เนื่องมาจากวิทยาลัยครูทั่วประเทศ ซึ่งปฏิบัติภารกิจภายใต้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 ที่มีสาระสำคัญ คือ ยกฐานะ วิทยาลัยครูให้ผลิตครูได้ถึงชั้นปริญญา และ พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู ฉบับที่ 2 พ.ศ.2527 ที่มีสาระสำคัญคือ กำหนดบทบาทให้วิทยาลัยครูจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองท้องถิ่น
จึงทำให้วิทยาลัยครูทั้ง 36 แห่งได้มีการพัฒนารุดหน้าไปทุก ๆ ด้าน จากเดิมที่เป็นเพียงการผลิตครูในระดับประกาศนียบัตร ก็ได้พัฒนาตนเองจนถึงขั้นผลิตครูระดับปริญญาบัณฑิต อันเป็นบุคคลระดับมันสมองของประเทศ แต่การพัฒนาก็มิได้หยุดยั้งเพียงเท่านั้น ระยะต่อมาได้พัฒนาถึงขั้นผลิตบัณฑิตสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ได้เป็นผลสำเร็จ
แต่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและค่านิยมที่ไม่ถูกต้องของสังคม สร้างปัญหาวิกฤตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ตามลำพังให้เกิดขึ้นแก่วิทยาลัยครู ด้วยคนทั่วไปยังคงยึดติดว่าวิทยาลัยครูผลิตบัณฑิตเฉพาะสายครูเท่านั้น และเข้าใจผิดว่าบัณฑิตจากวิทยาลัยครูจะต้องประกอบวิชาชีพครูเพียงอย่างเดียว จุดนี้เองทำให้ผู้ที่จบการศึกษาในสายวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) และศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) ขาดโอกาสในการได้งานทำ ก่อให้เกิดความรู้สึกอัปยศ น้อยเนื้อต่ำใจ ทั้งนี้ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนของสังคมโดยแท้
กรมการฝึกหัดครู พยายามอย่างยิ่งที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ เริ่มจากแนวคิดที่จะแก้ไขพรบ.วิทยาลัยครูทั้งสองฉบับ ในสอดคล้องกับสภาพจริงของวิทยาลัยครูในสมัยนั้น รวมถึงชื่อ “วิทยาลัยครู” ที่เป็นส่วนสำคัญของปัญหา ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาหลายครั้ง แต่ก็ประสบปัญหาครั้งแล้วครั้งเล่า หลายฝ่ายมองเห็นว่าเป็นทางตัน และเริ่มรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจ กรมการฝึกหัดครูเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น
จึงได้ดำริที่จะขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง โดยขอพระราชทานนามใหม่แก่วิทยาลัยครู และเพื่อให้ได้ชื่อที่เหมาะสม จึงได้ระดมสมองคิดหาชื่อใหม่ที่ดีที่สุดส่งขึ้นไปเพื่อขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อขอให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นนามใหม่ของวิทยาลัยครูต่อไป
การสรรหาชื่อใหม่เป็นไปอย่างคึกคัก ในที่สุดคำว่า “สถาบันราชพัฒนา” เป็นคำที่ถูกใจ คณะกรรมการมากที่สุด กรมการฝึกหัดครูจึงได้ทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ ถึงปัญหาความเดือดร้อนของวิทยาลัยครู และขอพระราชทานนามใหม่ว่า “สถาบันราชพัฒนา” หรือชื่ออื่นใดสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน
ในที่สุด โดยที่มิได้คาดคิดมาก่อน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 นับเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง
“ราชภัฏ” เป็นคำที่ มิมีผู้ใดคาดคิดมาก่อนว่า จะเป็นนามพระราชทาน เป็นคำศัพท์ที่ทรงใช้ พระบรมราชวินิจฉัยและทรงสรรหาด้วยพระองค์เอง แสดงให้เห็นว่าทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการของวิทยาลัยครูอย่างแท้จริง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นหาที่สุดมิได้
“ราชภัฏ” เป็นศัพท์โบราณ มีความหมายตามพจนานุกรมว่า “ข้าราชการ” โดยนัยหมายถึง “ปราชญ์ของพระราชา” เพราะผู้ที่จะสามารถรับใช้เบื้องพระยุคลบาทได้ จะต้องเป็นผู้รอบรู้ มีสติปัญญาเฉียบแหลม
นับได้ว่า “ราชภัฏ” นี้เป็นคำสูงส่ง เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สมควรจะเทิดไว้เหนือเกล้าและจงรักภักดีด้วยการตั้งปณิธานที่จะประพฤติ และปฏิบัติหน้าที่เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท สืบไป
อรวรรณ สุขมา เรียบเรียง