“บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024” จัดกิจกรรมเสวนา “BAB 2024 Symposium”

“บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024”  จัดกิจกรรมเสวนา “BAB 2024 Symposium” ในหัวข้อ Gaia, Women, and Bodies (ไกอา สตรี และเรือนร่าง)

เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ที่กำหนดจัดขึ้นในทุก ๆ 2 ปี “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024” โดย มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยการผสานความร่วมมือครั้งสำคัญกับ กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB)  เครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “รักษา กายา (Nurture Gaia)

ล่าสุดจัดกิจกรรมเสวนา “BAB 2024 Symposium ในหัวข้อ Gaia, Women, and Bodies (ไกอา สตรี และเรือนร่าง) โดยมี นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และ นายฌอง-โคล็ด ปวงเบิร์ฟ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เปิดงานสัมมนาอย่างเป็นทางการ ณ ห้องออดิทอเรียม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีหัวข้อเสวนาดังนี้

  • เสวนา#1 หัวข้อ “Revitalizing Louise Bourgeois Memorial Hold Me Close, Nopparat Tara Krabi” ร่วมเสวนาโดย เจอรรี่ โกโรวอย ประธานมูลนิธิอีสตัน ผู้ดูแลทรัพย์สินของศิลปินหลุยส์ บูร์ชัวส์ และ ฟิลิป ลาร์รัตต์-สมิธ ภัณฑารักษ์ประจำมูลนิธิอีสตัน  กุลภัทร ยันตรศาสตร์ สถาปนิก และศ.ดร. อภินันท์  โปษยานนท์ ผู้อำนวยการศิลป์ เทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ดำเนินรายการโดย ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ภัณฑารักษ์และกรรมการบริหารหอศิลปกรุงเทพฯ

การเสวนาในหัวข้อ  “Revitalizing Louise Bourgeois Memorial Hold Me Close, Nopparat Tara Krabi” จะกลับไปย้อนรำลึกถึงผลงานประติมากรรม Hold me close โดย หลุยส์ บูร์ชัวส์ ประติมากรหญิงชื่อดังระดับโลกผู้ล่วงลับ บูร์ชัวร์สร้างผลงานชุดนี้ขึ้นและมอบให้แก่ประเทศไทยเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 และผลงานเคยได้รับการติดตั้งไว้ ณ อนุสรณ์สถานในสวนสน หาดนพรัตน์ธารา ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ก่อนจะมีการยืมไปจัดแสดงในนิทรรศการและเทศกาลศิลปะสำคัญ เช่น นิทรรศการฝันถึงสันติภาพ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (2553) และเทศกาลศิลปะนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่โคราช จังหวัดนครราชสีมา (2564) ปัจจุบันผลงานถูกเก็บไว้ภายใต้การดูแลของศาลาว่าการจังหวัดกระบี่ และไม่ได้จัดแสดง ผู้ร่วมเสวนาจะสนทนากันถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการพลิกฟื้นประติมากรรมและอนุสรณ์สถานแห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้งได้อย่างไร

ADVERTISMENT

  • เสวนา#2 หัวข้อ “ถึงชีวิตและความตาย: ภาพจิตรกรรมโดย หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธ์ บริพัตร” ร่วมเสวนาโดย ศ.ดร.มรว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ อิ๋ง กาญจนะวณิชย์ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สดชื่น ชัยประสาธน์ ดำเนินรายการโดย ศ.ดร. อภินันท์ โปษยานนท์

ศ.ดร.มรว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ประธานกรรมการมูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร  ร่วมด้วย อิ๋ง กาญจนะวณิชย์ นักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สดชื่น ชัยประสาธน์ อดีตหัวหน้าสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ศิลปะ วัฒนธรรมและวรรณคดีฝรั่งเศสในประเทศไทย จะร่วมกันพูดคุยถึงชีวิตและการทำงานศิลปะของหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ศิลปินหญิงผู้สร้างสรรค์ภาพเขียนแนวเซอร์เรียลลิสต์-แฟนตาสติก ผลงานของ หม่อมเจ้ามารศรีฯ โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยตัวละครกึ่งคนกึ่งสัตว์ในจินตนาการชวนฝันดุจเทพนิยาย ที่สะท้อนถึงความรู้อันลึกซึ้งในวรรณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และตำนานเทพปกรณัมตะวันตก โดยผสมผสานกับหลักปรัชญาะตะวันออกได้อย่างกลมกลืน

ADVERTISMENT

  • เสวนา#3 หัวข้อ “The Female Gaze: Conversation on bodies and the works of Ravinder Reddy ” ร่วมเสวนาโดยศิลปิน และศ.ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ดำเนินรายการโดย วารินทร์ สัจเดว

ในการเสวนา “The Female Gaze: Conversation on bodies and the works of Ravinder Reddy ” ราวินเดอร์ เรดดี ศิลปินผู้มีผลงานจัดแสดงในเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมด้วย ศ.ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการศิลป์ เทศกาลฯ จะพูดคุยถึงกระบวนการสร้างสรรค์งานประติมากรรมที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาติของเรดดี โดยเน้นไปยังการสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวกับสตรีและความเป็นหญิง ที่สะท้อนถึงความเข้าใจและความเคารพในเพศแม่ ผ่านการจัดการกับขนาด สัดส่วน วัสดุ และสื่อต่าง ๆ ได้อย่างลงตัวและมีเอกลักษณ์ ดำเนินการสนทนาโดย วารินทร์ สัจเดว  ผู้ประกาศข่าว นักจัดรายการวิทยุ และนักแสดงชาวไทยเชื้อสายอินเดีย

ติดตามข่าวสาร และตารางกิจกรรมของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 Bangkok Art Biennale 2024 (BAB 2024) เพิ่มเติมได้ทาง  Facebook และ Instagram : Bkkartbiennale  ผู้ประสานงานสื่อมวลชนหลัก มลิสา (ส้ม) 096-593-6654

 

…………………………………………………………………………………………………………………………………….

 

เกี่ยวกับมูลนิธิอีสตัน

มูลนิธิอีสตันได้ถูกก่อตั้งขึ้นโดย หลุยส์ บูร์ชัวส์ ในช่วงทศวรรษ 1980 ในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและเพื่อการกุศล หลังจากที่เธอเสียชีวิตในปีค.ศ. 2010 ขณะมีอายุ 98 ปี บูร์ชัวส์ได้ยกบ้านของเธอพร้อมทั้งอาคารทาวน์เฮาส์ที่อยู่ติดกันให้กลายเป็นสำนักงานของมูลนิธิ และได้บริจาคผลงานศิลปะจำนวนมากให้เป็นทรัพย์สินของมูลนิธิ

ปัจจุบันมูลนิธิอีสตันได้มุ่งเน้นในการอนุรักษ์มรดกของบูร์ชัวส์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการตระหนักรู้เกี่ยวกับชีวิตและผลงานของศิลปิน รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดการตีความใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับผลงานของเธอ ตลอดจนช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะและการสร้างสรรค์ และเพื่อบรรลุภารกิจนี้ มูลนิธิได้ก่อตั้ง Louise Bourgeois Archive ขึ้นอีกด้วย ซึ่งใช้เป็นสถานที่ศึกษาและโครงการพำนักสำหรับภัณฑารักษ์และนักวิชาการ นอกจากนี้ยังมีสวนประติมากรรม และพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการขนาดเล็กที่นำเสนอเอกสารจดหมายเหตุตัวต้นฉบับ และผลงานจากคอลเลกชันของมูลนิธิ อีกทั้งมูลนิธิยังดำเนินงานอนุรักษ์บ้านและสตูดิโอของบูร์ชัวส์ไว้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสถานที่ที่เธอเคยพักอาศัย และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะมานานเกือบ  50 ปี

 

หลุยส์ บูร์ชัวส์

เกิด พ.ศ. 2454 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เสียชีวิต พ.ศ. 2553 นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลุยส์ บูร์ชัวส์ เติบโตนอกเมืองปารีส โดยครอบครัวของเธอทำธุรกิจซ่อมแซมผ้าทอ (tapestry) วัยเด็กของเธอเต็มไปด้วยปัญหาทางความสัมพันธ์ในครอบครัว และเป็นประสบการณ์อันเจ็บปวดที่กลายเป็นคลังของแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะ ผลงานของเธอมีตั้งแต่ภาพวาดงานที่ละเอียด ไปจนถึงศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ สร้างสรรค์จากวัสดุหลากหลายทั้งไม้ ปูนปลาสเตอร์ หินอ่อน และสำริด

บูร์ชัวส์แสดงสภาวะทางจิตผ่านภาพที่สื่อความหมายโดยการเทียบเคียงรูปร่าง กับการเทียบเคียงโดยสัญญะ ขนาดและวัสดุที่ใช้หลากหลายพอๆ กับรูปแบบที่สลับไปมาระหว่างความเป็นนามธรรมกับรูปธรรม ผลงานของเธอสะท้อนอารมณ์ต่างๆ อาทิ ความเหงา อิจฉา โกรธ และกลัวอยู่เสมอ  งานเขียนและงานจิตรกรรมที่เธอทุ่มเทให้เป็นรูปแบบการแสดงออกที่มีความสำคัญตลอดชีวิตของเธอ  ผลงานของ บูร์ชัวส์จัดแสดงมาแล้วทั่วโลก  และเมื่อเร็วๆ นี้แสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติเมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ พิพิธภัณฑ์เบลเวอเดียร์ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และพิพิธภัณฑ์ The Art Gallery of New South Wales เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

 

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

ประสูติ, พ.ศ. 2474, กรุงเทพฯ ประเทศไทย

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร หรือ MARSI เป็นศิลปินชาวไทยผู้สร้างสรรค์ภาพเขียนแนวเซอร์เรียลลิสต์-แฟนตาสติก ซึ่งมีความงดงามและสะท้อนสัจธรรมแห่งชีวิตและความตายได้อย่างตราตรึง หม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์เดียวของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ (เทวกุล) บริพัตร ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2474 ที่วังบางขุนพรหม (ธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน)

หม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงมีพระอัจฉริยภาพหลายด้าน อาทิ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลป์ วาดภาพ และดนตรี ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกในสาขาวรรณคดีจากมหาวิทยาลัย ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และปริญญาเอกในสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะจากมหาวิทยาลัยแห่งมาดริด หม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงงานในแวดวงวิชาการอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนทรงเริ่มศึกษาศิลปะด้วยพระองค์เอง และทรงสร้างสรรค์ผลงานภาพเขียนที่โดดเด่นงดงามเหนือจินตนาการ จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล ภาพวาดเปี่ยมจินตนาการของหม่อมเจ้ามารศีฯ ได้รับอิทธิพลจากองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งด้านวรรณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ตำนานเทพปรณัม ความรักในบทเพลงคลาสสิกและสัตว์เลี้ยงนานาชนิด ผสานเข้ากับหลักปรัชญาตะวันตกและตะวันออกได้อย่างกลมกลืน สร้างสรรค์ขึ้นเป็นภาพเขียนที่ลุ่มลึกงดงามในแนวทางของตนเอง

หม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายที่พระตำหนักในอานโนต์ เมืองเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสกว่า 40 ปี แวดล้อมไปด้วยดอกไม้ ลำธาร และสัตว์เลี้ยงนานาชนิดซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในภาพเขียนและชีวิตของท่านเสมอมา หลังจากประชวรเมื่อปี 2557 หม่อมเจ้ามารศีฯ ไม่ทรงสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้เช่นเดิม แต่ยังคงประทับ ณ พระตำหนักเวลลารา ในเมืองอานโนต์ ประเทศฝรั่งเศส ท่ามกลางธรรมชาติ เสียงดนตรี และสัตว์เลี้ยง จวบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2556

 

ราวินเดอร์ เรดดี

เกิด พ.ศ. 2499 สุรยเพท อานธรประเทศ ประเทศอินเดีย พำนักอยู่ที่ วิสาขปัตนัม อานธรประเทศ ประเทศอินเดีย

ราวินเดอร์ เรดดี เป็นประติมากรชาวอินเดียที่ประสบความสําเร็จ เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ผลงานของเขาถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ และคอลเลคชันของสะสมส่วนตัวมากมาย ทั้งในประเทศอินเดีย และประเทศอื่น อาทิ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา

ผลงานของเขาได้ถูกรับเชิญไปจัดแสดงในนิทรรศการ และอาร์ตแฟร์มากมาย อีกทั้ง ยังมีผลงานประติมากรรมคอมมิชชันขนาดใหญ่ในพื้นที่สาธารณะ ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับเมืองในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น

ความเชี่ยวชาญของเรดดีในการจัดการกับขนาด สัดส่วน วัสดุ และสื่อต่าง ๆ เป็นการผสมผสานและต่อยอดจากความเป็นพื้นถิ่นและขนบธรรมเนียมประเพณีของอินเดียด้วยความคิดสร้างสรรค์ เขาประยุกต์ความเป็นพื้นถิ่นและรากฐานนี้ ให้เกิดเป็นแนวคิดที่ร่วมสมัยผสานกับการแสดงออกถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา

ราวินเดอร์ เรดดีได้ซึมซับและถูกปลูกฝังการผสมผสานของวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกผ่านการศึกษาของเขาในสาขาวิทยาศาตรบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยบาโรดาอันทรงเกียรติในอินเดีย และที่ Goldsmith College of Arts และ Royal College of Art ลอนดอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image