เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2568 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การสร้างผู้นำในการเผชิญกับสภาพสังคมโลกและภูมิภาคในสภาวการณ์ปัจจุบันและอนาคต” ให้แก่คณาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง (วปอ.) สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ณ หอประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เขตดินแดง กรุงเทพฯ
นายอนุทินกล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้หลากหลายด้าน ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และปิโตรเคมี โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง แต่ภาคธุรกิจไทยยังสามารถดำเนินกิจการและขยายตัวได้อย่างมั่นคง
“ประการสำคัญเพราะเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่ทำให้ประเทศไทยไม่แยก ไม่แตกสลาย และสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และยังได้รับความเชื่อถือจากนานาประเทศ จึงทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังคงสามารถเดินหน้าไปได้ เรียกได้ว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก้าวหน้ารุดหน้าไปกว่าวิกฤตการณ์ทางการเมือง” นายอนุทิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยและองค์กรธุรกิจต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การแข่งขันในเวทีโลกทวีความเข้มข้นขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้นำในยุคนี้จึงต้องมีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับยุคสมัย คิดเชิงยุทธศาสตร์ และพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต โดยต้องมีคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที”
“ทันโลก” คือการเข้าใจสถานการณ์โลก วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง และสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม “ทันสมัย” หมายถึงความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกภาคส่วนของประเทศ และ “ทันท่วงที” คือการตัดสินใจที่รวดเร็ว แม่นยำ และเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรและประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังย้ำอีกว่า ในโลกยุคใหม่ ไม่มีองค์กรใดสามารถอยู่รอดได้ด้วยวิธีการแบบเดิม ภาครัฐเองยังต้องปรับตัวให้ทันกับแนวทางการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การนำระบบ AI มาใช้ในการบริหารจัดการ การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ ไร้เอกสาร (Paperless) และการทำงานแบบ Work from Home สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ ระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ที่ทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจและปรับใช้ให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือประชาชนทั่วไป
อีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งแม้ประเทศไทยจะไม่จำเป็นต้องดำเนินการครบทั้ง 17 ข้อ แต่สามารถมุ่งเน้นเป้าหมายที่เป็นประโยชน์และจับต้องได้ อาทิ การลดความยากจน การลดความหิวโหย การพัฒนาระบบสาธารณสุข การสร้างแหล่งน้ำสะอาดในทุกชุมชน และการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และทำให้ประเทศไทยสามารถเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต
นอกจากนี้ นายอนุทินยังกล่าวถึงบทบาทของ อาเซียน ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูง ไทยในฐานะศูนย์กลางของอาเซียนมีข้อได้เปรียบทั้งด้านประชากร เศรษฐกิจ และความมั่นคง เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น อาเซียนเป็นหนึ่งในไม่กี่ภูมิภาคที่ไม่มีความขัดแย้งหรือสงครามภายในประเทศสมาชิก สิ่งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยสามารถใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้แข็งแกร่งขึ้น
หากประเทศไทยสามารถยืนหยัดอย่างเข้มแข็ง และปรับตัวให้สอดคล้องกับกติกาโลก ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในภูมิภาค และสร้างโอกาสให้กับประชาชนทุกคน ประเทศไทยต้องเดินหน้าปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และก้าวขึ้นเป็นผู้นำที่แท้จริงในอาเซียนและเวทีโลก