กระทรวงมหาดไทย จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์” สืบสานภูมิปัญญาไทย ยกระดับงานหัตถศิลป์สู่มาตรฐานสากล
กระทรวงมหาดไทย จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์” ให้แก่รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อน้อมนําแนวพระดําริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาในการส่งเสริมอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะนำแบบลายผ้าที่ได้รับไปมอบให้แก่ช่างทอผ้าและช่างหัตถกรรมไทยนำลวดลายอันทรงคุณค่ามาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผืนผ้าและผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทย โดยผสมผสานกับลวดลายดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ อันเป็นการฟื้นฟูและสืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิม ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานและพัฒนาศักยภาพงานหัตถศิลป์ไทยให้ก้าวไกลในทุกมิติ
พิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนางสาวธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ นายสันติธร ยิ้มละมัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง นายบูรณิศ ยุกตะนันทน์ ผู้อำนวยการองค์การตลาด นางอรจิรา ศิริมงคล ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยและกรมการพัฒนาชุมชน รวมถึงคณะที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ดร.ศรินดา จามรมาน นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและผู้ก่อตั้งแบรนด์ THEATRE (เธียเตอร์) และ นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบและผู้ก่อตั้งแบรนด์ ISSUE (อิชชู่) และสื่อมวลชน ร่วมเป็นเกียรติในงาน ในวันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2568 ณ ห้องแอมเบอร์ 2-3 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
โอกาสนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดกรวยถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระรูป สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
และกล่าวสำนึกในพระกรุณาธิคุณ โดยกล่าวว่า “นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ทรงพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์” ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา ที่ทรงออกแบบขึ้น เนื่องในโอกาสที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ ประจำปีการศึกษา 2568 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายที่ปรากฏในศิลปกรรมไทยและผืนผ้าโบราณที่เป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติของประเทศไทย ซึ่งทรงนำมาออกแบบต่อยอดให้โครงสร้างลวดลาย มีความร่วมสมัย เป็นสากล และสื่อถึงเอกลักษณ์อันงดงามของชาติไทย และเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการและ
การจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ทรงพระราชทานลายผ้า “ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์” ประเภทผ้าบาติก ลายที่ 1 และ 2 แก่ช่างทอผ้าและช่างหัตถกรรมไทย เพื่อนำไปถักทอผืนผ้าและสร้างสรรค์งานหัตถกรรม ด้วยการผสมผสานกับลวดลายโบราณในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาแห่งอดีต ยกระดับมาตรฐาน และเพื่อพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรมในทุกมิติ ด้วยการออกแบบตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน”
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการขับเคลื่อน และขยายผลโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ยังผลให้ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย และขอน้อมนำแนวพระดำริในการเพิ่มคุณค่า และมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทย และสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป
ในโอกาสเดียวกัน นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้ร่วมเผยแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งดำเนินตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ว่า “การดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริ
มีจุดมุ่งหมายในการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ฟื้นฟูคุณภาพการทอผ้าของช่างทอผ้าทั่วประเทศ ให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและช่วยจัดหาช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์
ให้มีคุณภาพ ส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การสร้างรายได้สู่ครัวเรือน กระทรวงมหาดไทย
โดยกรมการพัฒนาชุมชน รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ดำเนินการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ยังผลให้ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ภายหลังจากการรับมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์” ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ขอให้จังหวัดดำเนินงานขับเคลื่อนโดยจัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน ให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและช่างหัตถกรรมในจังหวัด นำไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ต่อไป โดยกรมการพัฒนาชุมชน จะดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP (Coaching) 4 ภาค ระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2568 และจัด Coaching จุดแรก ที่จังหวัดนนทบุรี ในวันที่ 10 เมษายน 2568 จุดที่ 2 ที่จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 19 เมษายน 2568 จุดที่ 3 ที่จังหวัดอุดรธานี ในวันที่ 22 เมษายน 2568 จุดที่ 4 ที่จังหวัดสงขลา ในวันที่ 26 เมษายน 2568 และจุดสุดท้าย ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 จากนั้นได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทยและงานหัตถกรรม (ประกวดผ้าและงานหัตถกรรมลายพระราชทาน) ภายในเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2568 ต่อไป” นายสยาม ศิริมงคล กล่าวในช่วงท้ายฯ
รวมทั้งมีบรรยายพิเศษหัวข้อ แบบลายผ้าพระราชทาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ และดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งได้ถ่ายทอดถึงความสำคัญของลายผ้าพระราชทาน “สิริราชพัสตราภรณ์” ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของผ้าไทย เพราะเป็นการส่งเสริมทั้งในด้านการอนุรักษ์และต่อยอดภูมิปัญญาไทยและหัตถศิลป์ไทย การพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของผู้ผลิต การสร้างโอกาสทางการตลาด และการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ผ้าไทยสามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนทั้งในประเทศและระดับสากล
ดร.ศรินดา กล่าวว่า การให้ความรู้ผ่านการ Coaching ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ลายผ้าพระราชทาน แต่ครอบคลุมถึงงานออกแบบและการขาย โดยทีมที่ปรึกษาและดีไซเนอร์จะลงพื้นที่ให้คำแนะนำเชิงลึกแบบตัวต่อตัว เสมือนเป็น “ดีไซเนอร์พระราชทาน” ที่ช่วยผู้ประกอบการพัฒนาผลงานและแก้ไขปัญหาด้านการออกแบบ ในส่วนของการประกวดผ้าและงานหัตถกรรมลายพระราชทานเป็นเหมือนกุศโลบายที่มากกว่าการแข่งขันหรือการประกวด แต่เป็นแนวทางที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านหัตถศิลป์และงานหัตถกรรมไทย ขณะที่เหรียญพระราชทานจากการประกวดเปรียบเสมือนตรารับรองคุณภาพและความภาคภูมิใจของผู้ประกอบการ สร้างโอกาสให้ช่างฝีมือรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพและยกระดับมาตรฐานผลงานสู่สากล
นายธนันท์รัฐ กล่าวเสริมว่า สำหรับปีนี้ สมาคมนักออกแบบไทย ซึ่งมี คุณพลพัฒน์ อัศวะประภา เป็นนายกสมาคมฯ หลังจากเปิดตัวสมาคมฯ ในงาน Silk Festival 2024 ทำให้มีดีไซเนอร์จิตอาสาเข้าร่วมมากขึ้น ส่งผลให้ทีมที่ปรึกษาที่จะไปร่วม Coaching ในภูมิภาค มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การจัดประกวดผ้าและงานหัตถกรรมลายพระราชทาน ยังถือเป็น “แมกเนตหนึ่งในการดึงผ้าไทยออกสู่ตลาดสากล ที่ทุกคนให้การยอมรับ” และช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการทั่วทุกภูมิภาค สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน