รับมือกับอาการ ‘แพนิค’ (Panic) ฟื้นฟูจิตใจ หลังเกิดแผ่นดินไหว

โรคแพนิค (Panic Disorder) เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยโรคแพนิคจะมีอาการ Panic Attack คือ อาการตื่นตระหนก หรือหวาดกลัวขั้นรุนแรง สาเหตุของโรคนี้ยังไม่แน่ชัด อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ความตึงเครียด หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหว ภาวะช็อก การที่ต้องวิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอด  ความรู้สึกไม่ปลอดภัย หรือกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำ อาจทำให้เกิดอาการแพนิค โดยอาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและถึงขีดสูงสุดในเวลา 10 นาที คงอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ ทุเลาลง และมักหายเองในเวลาไม่เกิน 30 นาที และอาการมักเกิดขึ้นซ้ำๆ แม้ไม่มีปัจจัยกระตุ้น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

อาการ ‘แพนิค’

  • ใจเต้นเร็ว สั่นเหมือนตีกลอง
  • เจ็บบริเวณหน้าอก
  • หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม
  • รู้สึกมึนงง โคลงเคลง เป็นลม
  • รู้สึกชาหรือซ่าตามปลายมือ ปลายเท้า
  • ตัวร้อนวูบวาบ หรือตัวสั่น
  • เหงื่อแตก
  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้หรือปั่นป่วนในท้อง
  • ความรู้สึกเหมือนตกอยู่ในความฝัน มีการรับรู้บิดเบือนไป
  • ความกลัวอย่างท่วมทัน ร่วมกับความรู้สึกสังหรณ์ว่ามีบางอย่างที่น่ากลัวเกิดขึ้นกับตัวเองและเป็น
    สิ่งที่ควบคุมไม่ได้ กลัวว่าจะตาย กลัวว่าจะควบคุมตนเองไม่ได้ เหมือนจะเป็นบ้า หรือแสดงอาการ
    บางอย่างที่น่าอายออกไป

ADVERTISMENT

แพนิค (Panic) รักษาอย่างไรได้บ้าง?

ในปัจจุบันมีวิธีรักษาโรคแพนิคที่มีประสิทธิภาพ คือ การรักษาโรคแพนิคด้วยยา ร่วมกับการดูแลด้านจิตใจหรือการทำจิตบำบัดไปพร้อมกัน การรักษาอื่นๆ เช่น การฝึกผ่อนคลาย การฝึกหายใจ และการเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกลัวพบว่ามีส่วนช่วยให้อาการต่างๆ ดีขึ้นได้ หลังได้รับการรักษาผู้ป่วยโรคแพนิคจะมีอาการดีขึ้นจนหายขาดได้ 7-9 รายใน 10 ราย โดยอาการแพนิคจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายหลังเริ่มได้รับการรักษาแล้ว 6-8 สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วควรรักษาต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อป้องกันการกำเริบ ไม่ควรหยุดยาทันที เพราะจะเกิดอาการเมื่อหยุดยาได้

เมื่อมีอาการแพนิค ควรรับมืออย่างไร

โรคแพนิครักษาหายได้ ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต
  • ฝึกเทคนิกการผ่อนคลาย เพื่อลดระดับของความตึงเครียด
  • เมื่ออาการแพนิคต่างๆ เริ่มทุเลาลงแล้ว ควรออกไปเผชิญกับสถานการณ์ที่เคยหวาดกลัวและลอง ทำกิจกรรมที่เคยหลีกเลี่ยงโดยเริ่มที่ละน้อยแต่สม่ำเสมอ
  • ไม่ควรบรรเทาอาการแพนิคด้วยการเสพสุรา หรือใช้ยานอนหลับ เพราะอาการแพนิคจะรุนแรงขึ้น เมื่อหยุดเสพ
  • ลดหรืองด กาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ประเภทโคล่าทุกชนิด
  • ออกกำลังกาย
  • ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองเป็นโรคแพนิค ควรไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างตรงจุด

ADVERTISMENT

วิธีดูแลจิตใจ เมื่อมีอาการแพนิค หลังเกิดแผ่นดินไหว

  1. ยอมรับความรู้สึกว่ามันเกิดขึ้นจริงเป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเศร้า หวาดกลัว วิตกกังวล หรือสับสน  อย่าพยายามปฏิเสธหรือกดทับความรู้สึกของตนเอง รวมถึงให้เวลากับตัวเองในการฟื้นฟูทางอารมณ์
  2. สร้างความปลอดภัยทางจิตใจด้วยการระบายความรู้สึกผ่านการเขียน พูด หรือพูดคุยกับคนที่เข้าใจ หลีกเลี่ยงการดูข่าวหรือภาพที่อาจกระตุ้นความรู้สึกทางลบ
  3. จัดการความเครียดด้วยการฝึกหายใจลึกๆ ช้าๆ การออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
  4. พยายามกลับเข้าสู่กิจวัตรเดิมเช่น กินอาหารให้ครบมื้อ นอนให้เพียงพอ และทำกิจกรรมที่ช่วยให้จิตใจสงบ
  5. ปรึกษานักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเมื่อพบว่ามีอาการทางกายที่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะรุนแรง นอนไม่หลับติดต่อกัน มีความคิดทำร้ายตนเอง มีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลอย่างมาก ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

                                                             ผู้เขียนบทความ

                                       เรืออากาศโทแพทย์หญิงภิรญา พิธาฐิติกุล

                                           จิตแพทย์ โรงพยาบาลไทยนครินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image