สคทช. ผนึกกำลัง 12 หน่วยงาน ลงนาม MOU ช่วยประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินของรัฐ

สคทช. ผนึกกำลัง 12 หน่วยงาน ลงนาม MOU ช่วยประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินของรัฐ ให้เข้าถึงสาธารณูปโภคไฟฟ้า น้ำประปา นำร่อง 2 จังหวัด ก่อนขยายผลไปทั่วประเทศ

เมื่อวันพุธที่ 9 เมษายน 2568 ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (ผอ.สคทช.) รับมอบหมายจากนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การช่วยเหลือประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินของรัฐ ให้เข้าถึงสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจาก 12 หน่วยงานภาคีเครือข่าย เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางและภูมิภาค เข้าร่วมในพิธี ณ ห้อง Magic 2 ชั้น 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร

ADVERTISMENT

ดร.รวีวรรณฯ ผอ.สคทช. กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายรวม 13 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน 
การประปาส่วนภูมิภาค กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กรมแผนที่ทหาร จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดแม่ฮ่องสอน องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเป้าหมายสำคัญเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินของรัฐ ให้สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ ไฟฟ้า และประปา ได้อย่างเหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 และวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ซึ่งผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2546 โดยในเบื้องต้นได้ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 2 จังหวัด ได้แก่จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ADVERTISMENT

ผอ.สคทช. กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ยังสอดคล้องกับกรอบการบริหารจัดการโครงการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย 9 ขั้นตอน ภายในระยะเวลา 12 เดือน โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนที่อยู่ในระหว่างการพิสูจน์สิทธิในเขตที่ดินของรัฐก่อนวันที่ 9 มกราคม 2567 ได้รับการผ่อนผันให้เข้าถึงไฟฟ้าและประปาชั่วคราวในระหว่างรอการพิสูจน์สิทธิ โดย สคทช. ในฐานะกลไกกลางของภารกิจนี้จะดำเนินงานภายใต้หลัก 4 ประการ ได้แก่

  1. ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงาน
  2. ทำงานแบบบูรณาการ โดยไม่ผลักภาระให้ประชาชน
  3. ดำเนินงานตามกรอบกฎหมาย ด้วยความโปร่งใส และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม
  4. ติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ตกลงร่วมกันในการสนับสนุนข้อมูล บูรณาการการทำงาน และอำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามบทบาทและหน้าที่ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

“ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการพื้นฐานในพื้นที่ของรัฐเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เพราะการที่ประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภค บริโภค จะส่งผลให้ขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการพัฒนาที่มุ่งเน้นความเท่าเทียม และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในด้านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ความร่วมมือครั้งนี้เพื่อจัดทำแนวทางการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ดังนั้นทุกหน่วยจึงเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้การช่วยเหลือประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินของรัฐ ได้เข้าถึงสาธารณูปโภคไฟฟ้า น้ำประปา ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เสียสละและมาร่วมกันด้วยความตั้งใจจริง หากประสบผลสำเร็จในพื้นที่นำร่องทั้งสองจังหวัด ก็จะสามารถขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศได้อย่างมั่นใจ

โดย สคทช. ยืนยันจะเป็นหน่วยงานกลางที่ช่วยผสานและขับเคลื่อนการดำเนินงานของทุกภาคส่วนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” ผอ.สคทช. กล่าวย้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image