กรมทางหลวงทำพิธีเทคอนกรีตจุดเชื่อมต่อสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2

 

วันนี้ (30 มีนาคม 2560) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย Mr. Win Khaing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการก่อสร้างแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมป็นประธานในพิธีเทคอนกรีตจุดเชื่อมต่อสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีผู้บริหารกระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง ส่วนราชการจังหวัดตาก ตลอดจนสื่อมวลชนร่วมงานจำนวนมาก

 

Advertisement

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 และดำเนินโครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งศูนย์บริการนำเข้า-ส่งออก และศูนย์โลจิสติกส์ ตลอดจนคลังสินค้า โดยจัดหาพื้นที่ตามแนวเส้นทางก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และรองรับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ East – West Economic Corridor กรมทางหลวงได้ศึกษาออกแบบและได้รับอนุมัติงบประมาณค่าก่อสร้างจากคณะรัฐมนตรีในโครงการดังกล่าวในวงเงินรวมทั้งสิ้น 3,900 ล้านบาท ซึ่งงานประกอบด้วย ตัวสะพานข้ามแม่น้ำเมย ถนนเชื่อมต่อสะพานทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้งอาคารด่าน หรือ Border Control Facilities เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจรับผิดชอบการตรวจผ่านแดนเข้ามาใช้สถานที่ปฏิบัติงานให้บริการประชาชนร่วมกัน อาทิ  กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมปศุสัตว์

ซึ่งสะพานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางเลี่ยงเมืองแม่สอด มีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงหมายเลข 12 ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน ที่บ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ราชอาณาจักรไทย เชื่อมสู่บ้านเยปู หมู่ 5 เมืองเมียวดี จังหวัดเมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และมีจุดสิ้นสุดบรรจบถนนหมายเลข 85 สายเมียวดี-กอกะเร็ก เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเอเชียหมายเลข 1 สำหรับงบประมาณการก่อสร้างในพื้นที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รัฐบาลไทยจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบให้เปล่า หรือ Grant Aid แก่รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 นี้เชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง มีความยาวของสะพานทั้งหมด 760 เมตร  แบ่งเป็นฝั่งไทย 515 เมตร และฝั่งเมียนมา 245 เมตร ไม่มีเสาตอม่ออยู่กลางแม่น้ำ สะพานมีขนาด 2 ช่องจราจรไป-กลับ แยกช่องจราจรด้วยเกาะคอนกรีตแบบต่ำ ช่องผิวจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร และทางเดินเท้ากว้างข้างละ 1.50 เมตร

Advertisement

อธิบดีกรมทางหลวงยังเปิดเผยต่อไปอีกว่า โครงการนี้เป็นการดำเนินงานเองของหน่วยงานต่างๆ ภายในของกรมทางหลวงเองทั้งสิ้น จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานจากหลายหน่วยงานจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานและมีส่วนร่วมในภารกิจระหว่างประเทศครั้งนี้ คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จทั้งโครงการและเปิดใช้งานได้ภายในปี พ.ศ.2562 ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานแล้วจะช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการคมนาคมขนส่ง เป็นการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจประเทศไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนในภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งเพิ่มความสะดวกคล่องตัวในการใช้เส้นทาง สามารถรองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งจะกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนในภูมิภาคนี้ให้มีความใกล้ชิดแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งจะช่วยลดปัญหาการจราจรที่แออัดของสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 1 ด้วย เป็นการพัฒนาเครือข่ายเส้นทางคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาระบบโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าเส้นทางเดิมที่มีความคับแคบ และไม่สะดวกต่อการขนส่งสินค้าเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด และศูนย์กลางเชื่อมโยงอาเซียน-โลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image