“มอเตอร์เวย์” ตอบโจทย์การเดินทางและการขนส่งแห่งอนาคต

 

นับจากปี พ.ศ. 2541 ที่ประเทศไทยได้เริ่มมีระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์ สายแรก คือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 กรุงเทพ – ชลบุรี ระยะทาง 82 กิโลเมตร และต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ได้เปิดให้บริการทางหลวงหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก บางนา – บางปะอิน ระยะทาง 64 กิโลเมตร สร้างความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชน ด้วยจุดเด่นที่ออกแบบให้รถสามารถใช้ความเร็ว มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีรั้วกั้นตลอดแนว และมีทางแยกต่างระดับในจุดที่ต้องตัดกับเส้นทางสายอื่น ๆ รวมถึงมีที่พักริมทาง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบควบคุมความปลอดภัยตลอดเส้นทาง ทำให้ปัจจุบัน มีปริมาณการใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สาย มากกว่า 6 แสนคัน/วัน

กรมทางหลวงได้พัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ได้ขยายจากชลบุรี ไปถึงพัทยา ระยะทาง 42 กิโลเมตร และกำลังดำเนินการเข้าสู่ระบบปิดอย่างเต็มรูปแบบภายในปีนี้ ด้วยการพัฒนาระบบมอเตอร์เวย์เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 คณะรัฐมนตรี จึงได้อนุมัติเห็นชอบโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 3 เส้นทาง ได้แก่ สายพัทยา – มาบตาพุด ทางหลวงหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา และทางหลวงหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี

ปัจจุบันกรมทางหลวง ได้ดำเนินโครงการมอเตอร์เวย์ทั้ง 3 เส้นทาง และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยทางหลวงหมายเลข 7 สายพัทยา – มาบตาพุด เป็นการก่อสร้างเส้นทางสายใหม่ ผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 2+300 เชื่อมกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายพัทยา – ชลบุรี ผ่านอำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สิ้นสุดโครงการที่จุดเชื่อมต่อกับถนนสุขุมวิทบริเวณตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง ระยะทางรวม 32 กม. สำหรับงานก่อสร้างในส่วนงานโยธา แบ่งออกเป็น 13 สัญญา ได้ลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างแล้วทั้งหมด มีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 30 ในส่วนของงานระบบ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมและบริหารการจราจร ด่านชั่งน้ำหนัก อยู่ระหว่างสำรวจ ออกแบบการก่อสร้าง และเตรียมการประกวดราคา คาดว่าจะสามารถประกวดราคาแล้วเสร็จและเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2560 โดยทางหลวงหมายเลข 7 สายพัทยา – มาบตาพุด จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 สอดคล้องกับแผนงานพัฒนาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ปี 2560 -2564 ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

Advertisement

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา เป็นส่วนหนึ่งของมอเตอร์เวย์ สายกรุงเทพฯ – หนองคาย ซึ่งอยู่ในแผนของการสร้างโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน ผ่านอำเภอวังน้อย อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอหนองแค อำเภอเมือง อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี  ผ่านอำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ และไปสิ้นจุดโครงการที่จุดเชื่อมต่อกับทางเลี่ยงเมือง จังหวัดนครราชสีมา รวม ระยะทาง 196 กิโลเมตร

ซึ่งนอกจากการก่อสร้างเส้นทางในระดับพื้นแล้ว จะมีส่วนที่เป็นทางยกระดับเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และชุมชนจำนวน 4 ช่วง ได้แก่ สะพานยกระดับบริเวณทางเลี่ยงเมืองสระบุรี แก่งคอย มวกเหล็ก และบริเวณลำตะคอง การก่อสร้างงานโยธา แบ่งออกเป็น 40 สัญญา ได้ลงนามแล้ว 37 สัญญา ส่วนอีก 3 สัญญา คาดว่าจะลงนามภายในเดือนเมษายน 2560 สำหรับการลงทุนงานก่อสร้างระบบต่าง ๆ จะรวมอยู่ในสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุน ในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุมัติเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของภาครัฐ คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้ายื่นข้อเสนอภายในปี 2560 ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในปี 2563 จะสามารถแบ่งเบาปัญหาการจราจรระหว่างกรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บนถนนพหลโยธิน ช่วงบางปะอิน สระบุรี และถนนมิตรภาพ จากสระบุรี-นครราชสีมา โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ และช่วงที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน  นอกจากนี้ เส้นทางนี้ยังเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับประเทศในกลุ่ม 4 เหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดจีน ได้แก่ ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีนตอนใต้

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี เป็นเส้นทางเชื่อมต่อการคมนาคมสู่ภาคตะวันตกและท่าเรือน้ำลึกทวาย มีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 9 วงแหวนรอบนอก ผ่านพื้นที่อำเภอบางใหญ่ อำเภอนครชัยศรี อำเภอเมืองนครปฐม อำเภอท่ามะกา และสิ้นสุดที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี รวมระยะทาง 96 กิโลเมตร ลักษณะโครงการเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 4 – 6 ช่องจราจร มีทางแยกต่างระดับ 8 แห่ง ได้แก่ บางใหญ่ นครชัยศรี (ทางหลวงหมายเลข 3233) นครชัยศรี (เชื่อมต่อสายนครปฐม – ชะอำ) นครปฐมตะวันออก และตะวันตก ท่ามะกา ท่าม่วง และกาญจนบุรี

Advertisement

สำหรับความก้าวหน้างานโยธา ซึ่งแบ่งออกเป็น 25 สัญญา ปัจจุบันได้ประกวดราคาแล้วเสร็จทุกสัญญา ลงนามสัญญาแล้ว 21 สัญญา ส่วนที่เหลือคาดว่าจะลงนามได้ภายในเดือนเมษายน 2560 ในส่วนของการลงทุนงานก่อสร้างงานระบบต่าง ๆ จะรวมอยู่ในขอบเขตของงาน การให้เอกชนร่วมลงทุน ในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาอยู่ระหว่างการขออนุมัติเห็นชอบรูปแบบการร่วมทุน คาดว่าจะสามารถประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอภายในปี 2560 และคาดว่าโครงการทางหลวงสายนี้จะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการพร้อมกันทั้งระบบภายในปี 2563

เมื่อการดำเนินการก่อสร้างทางหลวงพิเศษสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี แล้วเสร็จจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปยังภาคตะวันตก มีความสะดวก เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคให้ดีขึ้น และจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างฐานการผลิตและส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านด้านตะวันตก และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย

ทุกขั้นตอนของการดำเนินงานโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษทั้ง 3 สายทาง กรมทางหลวง ได้ประชาสัมพันธ์ และจัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และเพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของโครงการได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน รวมถึงสามารถติดตามความก้าวหน้าของโครงการอย่างใกล้ชิด สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองทั้ง 3 สายทาง ได้ริเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในรัฐบาลนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้เกิดความเจริญ ทั่วถึง ซึ่งจะนำความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค

—————————

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image