GGC วางศิลาฤกษ์โรงงานเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2 ชูเทคโนโลยีล้ำ ย้ำความทันสมัยล่าสุด

GGC เดินหน้าวางศิลาฤกษ์โรงงานเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2 ชูเทคโนโลยีล้ำ  ย้ำความทันสมัยล่าสุด รุดหน้าการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมของไทย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2560 ณ เขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น จังหวัดชลบุรี  พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2 ของบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานกรรมการ GGC และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และนายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ GGC ให้เกียรติร่วมเป็นส่วนสำคัญในพิธีฯ ด้วย

จากส่วนแบ่งการตลาดในประเทศของผลิตภัณฑ์เมทิลเอสเทอร์ของ GGC ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 27 ในปี 2559 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี   บริษัทฯ จึงได้ริเริ่มก่อสร้างโรงงานเมทิสเอสเทอร์  แห่งที่ 2 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 30 ไร่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น  ใช้เงินลงทุน 1,650 ล้านบาท โดยคาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561  มีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 200,000 ตันต่อปี  และเมื่อรวมกับโรงงานเมทิสเอสเทอร์แห่งที่ 1 ที่จังหวัดระยอง   GGC จะสามารถผลิตเมทิล เอสเทอร์ได้ถึง 500,000 ตันต่อปี

นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ ประธานกรรมการ GGC กล่าวว่า โรงงานเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2 ได้รับการออกแบบให้มีความทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก  ทำให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์เมทิลเอสเทอร์ (อันเป็นส่วนผสมหลักของน้ำมันไบโอดีเซล) ที่มีคุณภาพสูงสุดแต่ในต้นทุนที่ต่ำที่สุด โดยเทคโนโลยีที่ GGC นำมาใช้ประกอบด้วย Layer Esterification Technology ที่เปลี่ยนกรดไขมันในน้ำมันปาล์มดิบให้เป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์  เหมาะกับน้ำมันปาล์มที่มีคุณภาพหลากหลาย ช่วยให้รองรับผลผลิตของเกษตรกรได้มากขึ้น    Catalyst Recovery Technology คือ เทคโนโลยีที่นำสารตัวเร่ง (Catalyst) กลับมาใช้ใหม่  ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศแล้ว  ยังส่งผลเชิงบวกในด้านสิ่งแวดล้อมซึ่ง GGC ให้ความใส่ใจในขั้นตอนการดำเนินงาน

Advertisement

ถัดมา คือ Distillation Purification Technology  ซึ่งมีความโดดเด่น คือ เป็นเทคโนโลยีการกลั่น               ที่ทำให้ไบโอดีเซลมีความบริสุทธิ์สูงขึ้น ลดการอุดตันจากสิ่งเจือปนต่างๆ ส่งผลดีต่อการนำไปใช้กับเครื่องยนต์ทุกประเภท  พร้อมทั้งปราศจากการใช้น้ำในการชะล้าง  ทำให้เกิดผลพลอยได้ คือ การลดปริมาณน้ำเสียที่มาจากกระบวนการผลิต   สุดท้าย คือ Steam Generator Technology คือ การนำความร้อนทิ้งจากกระบวนการกลั่นมาใช้ในการผลิตไอน้ำ  ช่วยลดการใช้พลังงานและต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่ง

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานในพิธีกล่าวแสดงความยินดี  มีใจความสำคัญว่า รัฐบาลมีความยินดีที่ได้เห็นทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือและจัดทำโครงการต่างๆ อันสอดรับและสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 ของภาครัฐ   รวมถึงการก่อสร้าง “โรงงานเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2 ของ GGC” ซึ่งนอกจากจะใช้ผลผลิตทางการเกษตร กล่าวคือ ปาล์มน้ำมันที่มีอยู่มากมายในภาคตะวันออก  ยังใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด  ทั้งในด้านคุณภาพและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   ก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการ อาทิ การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง การจัดจ้างงานในพื้นที่  รวมถึงการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพมูลค่าสูงในประเทศไทย  ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร   และที่สำคัญยังอยู่ในเขตเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร (Biopolis) ที่มีระบบคมนาคมทันสมัย ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการครบวงจร และสถาบันวิจัยขั้นสูงอันจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เดิมคือ บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด บริษัทในกลุ่ม พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เป็นผู้บุกเบิกด้านการผลิตผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีในประเทศไทย  ภายใต้วิสัยทัศน์แห่งการเป็นผู้นำของโอลีโอเคมีในตลาดโลก  พร้อมกับการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจปลายน้ำที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรให้กับประเทศ เช่น อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สารลดแรงตึงผิว (Surfactants) ตลอดจนผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image