เครือข่ายการมีส่วนร่วมของเกษตรกรคลองโปร่งนก ร่วมแก้ปัญหาน้ำในคลองเน่าเสีย

เครือข่ายการมีส่วนร่วมของเกษตรกรคลองโปร่งนก อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก บรรลุแผนแก้ไขปัญหาน้ำในคลองเน่าเสีย ระยะเร่งด่วนดีเดย์วันกำจัดผักตบชวา ภายในเดือนมิถุนายน 2560 ระยะกลางขุดลอกตะกอนในคลอง และระยะยาวเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ลดปัญหาน้ำท่วมขังจาก 2 สัปดาห์ เหลือไม่เกิน 1 สัปดาห์

นายสุรินทร์ ทรัพย์สกุล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานเรศวร กรมชลประทาน เปิดเผยว่า การจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) ในพื้นที่คลองโปร่งนก อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก จำนวน 3 ครั้ง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำ ทั้งวัชพืชกีดขวางในคลองและน้ำท่วมขังนาน ซึ่งได้ผลสรุปที่แกนนำเกษตรกร 50 คน เสนอแผน 3  ระยะ ดังนี้

แผนระยะสั้น กำหนดให้กำจัดผักตบชวา วัชพืช และขยะในคลองโปร่งนก ความยาว 34 กิโลเมตร ภายในเดือนมิถุนายน 2560 โดยให้กรมชลประทานประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพ หน่วยงานปกครอง อ.พรหมพิราม องค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมกับเกษตรกร พร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบคลองด้วย

Advertisement

“คลองโปร่งนกเป็นคลองธรรมชาติในเขตทุ่งสาน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก รับน้ำจาก อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ปกติใช้เป็นคลองระบายน้ำไปลงแม่น้ำแควน้อย ระยะหลังมีปัญหาการทิ้งขยะ ผักตบชวา และวัชพืช ทำให้ระบายน้ำได้ช้าลง และกระทบต่อแหล่งเพาะพันธุ์ปลา”

แผนระยะกลาง ให้กรมชลประทานดำเนินการขุดลอกคลอง บริเวณสะพานที่เป็นคอขวด เพื่อให้น้ำไหลสะดวกขึ้น และแผนระยะยาว ปรับปรุงระบบระบายน้ำของท่อระบายน้ำทุ่งสาน จุดที่เป็นคอขวดให้กว้างกว่าเดิมและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจาก 80 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 120 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาน้ำท่วมจาก 2 สัปดาห์ ลงเหลือไม่เกิน 1 สัปดาห์

Advertisement

“ยังไงก็ท่วม เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ  เราเองได้ปรับปฏิทินเพาะปลูกข้าวนาปี โดยให้เริ่มวันที่ 1 เมษายน 2560 เก็บเกี่ยวภายในเดือนกรกฎาคม ก่อนน้ำจะหลากท่วม ลดความเสียหายต่อข้าวที่กำลังสุกเตรียมเก็บเกี่ยว  ในขณะเดียวกัน การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจะช่วยลดระยะเวลาน้ำท่วมขังลง”

นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน กล่าวว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรคลองโปร่งนก ทำให้เกิดสโลแกนแก้ปัญหา “คลองโปร่งนก โปร่งน้ำใส ใจถึงใจ แก้ไขน้ำ” สะท้อนให้เห็นว่า  เมื่อเกษตรกรมีส่วนร่วมแก้ปัญหาจะมีพลังในการขับเคลื่อนอย่างที่คาดไม่ถึง

“บางคนแรกๆ ขึ้นไปก็พูดว่า ไม่มีทางแก้ปัญหานี้ได้ แต่พอทุกคนได้ร่วมนำเสนอแนวทางแก้ไขหลายอย่าง สุดท้ายก็มีทางออกจนได้  คนที่บอกว่าแก้ไม่ได้ก็ยอมรับว่าการรวมหัวกันสามารถแก้ไขปัญหาได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image