ธรรมศาสตร์จับมือบ้านปู ร่วมสร้าง”นวัตกรทางสังคม”

รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและบริหารศูนย์รังสิต รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายชนินทร์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บมจ. บ้านปู พร้อมด้วยนายนคร ตังคะพิภพ ที่ปรึกษาสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย (สมป.) ร่วมกันเปิดโครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม เพื่อสร้างนวัตกรทางสังคมผ่านการออกแบบและสร้างสรรค์เกม ณ ห้องเอนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อเร็วๆ นี้

ธรรมศาสตร์ร่วมกับ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดตัวโครงการ “ออกแบบเกม ออกแบบสังคม”มุ่งสร้างนวัตกรทางสังคมจากพลังคนรุ่นใหม่ ผ่านกระบวนการออกแบบและสร้างเกม

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชน ให้มีทักษะด้านการออกแบบและสร้างนวัตกรรมเกมการเรียนรู้ที่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาและขับเคลื่อนสังคม โดยรับสมัครนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 และอาชีวศึกษาปีที่ 1 (ปวช. ปี 1) จากทั่วประเทศมาร่วมกระบวนการพัฒนาทักษะทั้งด้านการเป็นผู้สร้างนวัตกรรมหรือ “นวัตกร” ด้านกระบวนการคิดเชิงออกแบบและสร้างสรรค์ (design thinking and creativity) ส่งเสริมให้มีความตระหนักในประเด็นทางสังคม (social awareness) ตลอดจนมีความกล้าคิดและทำในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง  (change agent)

โครงการ “ออกแบบเกม ออกแบบสังคม” เป็นโครงการที่นักเรียนผู้เข้าร่วมจะสามารถออกแบบเกมการเรียนรู้เพื่อการขับเคลื่อนและแก้ไขประเด็นสังคมที่ตนเองสนใจได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกระบวนการกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ ร่วมกับคณาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากบ้านปูฯ  ซึ่งทางโครงการจะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมจากทั่วประเทศ และดำเนินการคัดเลือกในรอบแรกจนเหลือเพียง 45 ทีม โดยการพิจารณาข้อเสนอเชิงหลักการ (concept paper) ของแต่ละทีมซึ่งเกณฑ์ในการพิจารณาข้อเสนอเชิงหลักการในรอบแรกนั้น มีดังนี้ 1. การเข้าใจปัญหาและสะท้อนปัญหาในชุมชนหรือโรงเรียน 2. แนวคิดที่นำไปสู่การสร้างประโยชน์หรือแก้ปัญหาชุมชน 3. ระดับของผลกระทบทางสังคม (Social impact level) และ 4. ศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมสู่การแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อผ่านการคัดเลือกรอบแรกแล้ว ในรอบสุดท้าย แต่ละทีมจะต้องผ่านกระบวนการสัมภาษณ์เพื่อนำเสนอรูปแบบ แนวคิด แรงบันดาลใจในการเข้าร่วมโครงการ ตลอดจนปัญหาในสังคมที่ตนเองต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไข  ผ่านกระบวนการสัมภาษณ์จากคณะกรรมการ  จนเหลือเพียง 15 ทีม โดยนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนทั้งเชิงความรู้ ค่าใช้จ่ายและทุนในการพัฒนานวัตกรรมเกมของตนเอง เพื่อให้เกิดทั้งตัวผลงานนวัตกรรมที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างได้ผลเป็นรูปธรรม มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง ตลอดจนเกิดองค์ความรู้ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการสร้างสรรค์สังคม

Advertisement

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า โครงการสร้างสรรค์สังคมด้วยนวัตกรรม “ออกแบบเกม ออกแบบสังคม”มุ่งสร้างเครือข่ายนวัตกรที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม องค์ความรู้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนสังคมผ่านการสร้างนวัตกร “โครงการนี้มองว่า สังคมที่พลเมืองมีสำนึกรับผิดชอบ เห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งอย่างเป็นระบบ พร้อมปรับเปลี่ยนตนเอง และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยพลังสร้างสรรค์ร่วมกันนั้น จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดี สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน”รศ.ดร.อนุชาติ กล่าว

ทางด้าน คุณสมฤดี  ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง โครงการนี้ว่าเป็นหนึ่งในโครงการสนับสนุนด้านการศึกษาและพัฒนาสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในการทำงานของกลุ่มบ้านปูฯ ที่นอกจากจะมุ่งทำธุรกิจด้วยความโปร่งใสเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาบุคลากรมาโดยตลอด “เรามีความเชื่อว่า ‘พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา’ จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานการเรียนรู้โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมให้กับเยาวชน  เพื่อให้เกิดบุคลากรรุ่นใหม่ของชาติที่สามารถนำความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลง พัฒนาตนเองและสังคมได้ โดยทางบ้านปูฯ คาดหวังว่า โครงการนี้จะเป็นต้นแบบสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและพัฒนาเยาวชนของประเทศ” คุณสมฤดี  กล่าว

Advertisement

สำหรับการเข้าร่วมโครงการ  นักเรียนผู้สนใจสมารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ทาง  https://goo.gl/wF4pUF

สามารถศึกษารายละเอียดโครงการ  “Open Forum: ออกแบบเกม ออกแบบสังคม” ได้ในเว็บไซต์   http://lsed.tu.ac.th/tu-banpu   หรือ Facebook: https://facebook.com/tu.banpu

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image