เปิดตัว “เทคโนโลยีไฮบริด” !! กังหันลมโรงไฟฟ้าลำตะคอง กฟผ. เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า

กฟผ. ลงเสาต้นแรก กังหันลมโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ระยะที่ พร้อมนำเทคโนโลยีไฮบริด เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า

กฟผ. จัดพิธียกเสากังหันลมต้นแรก โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน กระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้สมดุล พร้อมนำเทคโนโลยี Fuel cell เสริมศักยภาพการกักเก็บไฟฟ้าให้มั่นคงสามารถจ่ายไฟฟ้าทุกช่วงเวลา สอดรับนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงาน

นายศุภชัย ปิตะสุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานในพิธียกเสากังหันลมผลิตไฟฟ้าโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 ต้นแรก โดยมีนายธีระชัย ลีโทชวลิต หัวหน้าโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 กฟผ. ทีมงานบริษัท Hydrochina Corporation บริษัทคู่สัญญา และผู้เกี่ยวข้องร่วมพิธี ณ อ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา อ.สีคิ้ว และ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

Advertisement

โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 เป็นอีกหนึ่งโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากลมที่ กฟผ. ดำเนินการขึ้นในพื้นที่ลำตะคอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พลังงานลมมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจากเดิมมีอยู่จำนวน 2 ต้น รวมกำลังผลิตสุทธิ 2.5 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ในพื้นที่โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนายังมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้มีความสมดุล และกำลังดำเนินการสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงาน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สำหรับโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 ประกอบด้วย กังหันลมผลิตไฟฟ้า สำหรับความเร็วลมต่ำ ขนาดความสูงของเสา 94 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางใบพัด 116 เมตร จำนวน 12 ต้น ต้นละ 2 เมกะวัตต์ รวมขนาดกำลังผลิตสุทธิ 24 เมกะวัตต์ โดยมีวงเงินงบประมาณ 1,407 ล้านบาท พร้อมนำระบบพัฒนาเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม (Wind Hydrogen Hybrid) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปของก๊าซไฮโดรเจนและแปลงกลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วยระบบ Fuel Cell ในวงเงินงบประมาณ 234 ล้านบาท มาเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้มีความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถกักเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้จากกังหันลม เพื่อนำมาจ่ายให้กับอาคารศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานที่อยู่บริเวณเดียวกัน เป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเชิงประจักษ์ สอดรับกับนโยบายทิศทางการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย (Energy 4.0) ของกระทรวงพลังงาน โดยโครงการดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จและสามารถผลิตไฟฟ้าภายในปี 2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image