‘สถานีกลางบางซื่อ’ ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่รอบศูนย์คมนาคม

 ปัจจุบันประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และภาคบริการอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มความต้องการใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่พื้นผิวการจราจรมีอยู่อย่างจำกัด ภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนและการขนส่งให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ การเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งรูปแบบต่างๆ ให้มีความต่อเนื่องกันอย่างเป็นระบบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีศูนย์กลางการคมนาคมสำหรับเป็นจุดศูนย์รวมและกระจายการเดินทางไปยังทุกทิศทางได้อย่างคล่องตัว

กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง “สถานีกลางบางซื่อ” หรือ ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงรังสิต-บางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายและเชื่อมต่อการเดินทาง (Multimodal Transport Center) ที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยเป็นสถานีชุมทางของรถไฟทางไกลสายเหนือ สายตะวันออก สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และรถไฟความเร็วสูงที่จะพัฒนาในอนาคต ขณะนี้การก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อก้าวหน้าแล้วกว่า 52% คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2563 นอกจากนี้จะเห็นการก่อสร้างหลายเส้นทางกำลังดำเนินการรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับนโยบายการขนส่งทางราง เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงที่ได้เปิดให้บริการแล้ว การพัฒนาโครงข่ายทางด่วนและถนนสายหลักเชื่อมโยงการเดินทางเข้ามายังย่านนี้

พื้นที่บริเวณ “ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน” ประมาณ 2,325 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ กระทรวงคมนาคมจึงมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยนำแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ Transit-Oriented Development หรือ “TOD” ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ที่มีการผสมผสานการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประเภทอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่อยู่อาศัย สำนักงาน ร้านค้า ใกล้สถานีระบบขนส่งมวลชน มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมแก่การเดินเท้าและการใช้จักรยาน และการเดินทางเชื่อมต่อด้วยระบบขนส่งสาธารณะหลายรูปแบบ ในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูงเพียงพอที่จะสามารถจัดให้มีบริการระบบขนส่งมวลชนได้อย่างคุ้มค่า มีการจัดการพื้นที่จอดรถยนต์อย่างเหมาะสมตามความจำเป็น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในต่างประเทศและประสบผลสำเร็จ ทำให้มีเม็ดเงินจากการพัฒนาพื้นที่รอบศูนย์คมนาคมมาใช้ในการดำเนินโครงการ ช่วยลดค่าโดยสาร หรือถึงขั้นคืนทุนจากโครงการก่อสร้างได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของภาครัฐ เช่น ฮ่องกง และประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

โดยพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินจะแบ่งออกเป็น 4 โซนหลัก คือ โซน A ติดสถานีกลางบางซื่อ ด้านทิศใต้ พื้นที่ประมาณ 35 ไร่ จะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ภายใต้แนวคิด Smart business complex ในลักษณะของ Retail ได้แก่ ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม และร้านให้บริการธุรกิจ โลจิสติกส์ โรงแรมที่สนับสนุนกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยว อาคารสำนักงาน โซน B อยู่ติดกันด้านตะวันออก ประมาณ 78 ไร่ ภายใต้แนวคิด ASEAN Commercial & Business Hubs เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในลักษณะที่มีศูนย์การค้าส่ง ค้าปลีก ที่พัฒนาต่อยอดจากตลาดนัดจตุจักร มีอาคารสำนักงานที่ทันสมัย โรงแรมรองรับนักธุรกิจที่มาติดต่อค้าขาย นักท่องเที่ยว อาคารแสดงสินค้าและหอประชุม และที่พัก พื้นที่โซน C ภายใต้แนวคิด Smart Healthy & Vibrant Town ประมาณ 105 ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบริษัท ขนส่ง จำกัด จะพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยไปพร้อมกับสถานที่ทำงาน และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และ โซน D พื้นที่ประมาณ 80 ไร่ อยู่ระหว่างพัฒนาเป็นศูนย์กลางคมนาคมพหลโยธินและอาคารทางเดินเชื่อมต่อระบบขนส่ง รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่บริเวณนิคมรถไฟ กม.11 พื้นที่ประมาณ 279 ไร่ และพื้นที่บริเวณตึกแดง 119 ไร่

Advertisement

กระทรวงคมนาคมจะเริ่มทยอยดำเนินการสรรหาผู้ร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในโซนต่างๆ โดยล่าสุด “นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม” ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา และได้ข้อสรุปให้การรถไฟฯเดินหน้าเชิญชวนและสรรหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อเริ่มพัฒนาพื้นที่โซน A ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2561 เพื่อให้สอดรับกับการให้บริการของสถานีกลางบางซื่อ ส่วนพื้นที่โซน B และ C จะดำเนินการในช่วงระยะเวลาต่อไปเมื่อมีความพร้อม

ในด้านการพัฒนารูปแบบการบริการขนส่งมวลชนเชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ สำหรับระยะทางไกลเกินกว่า 200 กม.จะใช้ระบบรางทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงเป็นหลัก ส่วนการเดินทางในกรุงเทพฯและปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงในระยะทางไม่เกิน 200 กม. จะใช้รถโดยสารระยะสั้น รถไฟฟ้าสายต่างๆ รถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ทำหน้าที่เป็น feeder เข้าไปรับ-ส่งถึงบริเวณสถานีกลางบางซื่อ สำหรับการเชื่อมโยงการเดินทางภายในพื้นที่สถานีจะจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างครบครัน ผู้ใช้บริการทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (BRT) ให้บริการรอบพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ และทางเดินเชื่อมต่อลอยฟ้า (Skywalk) ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังแหล่งการค้าและย่านธุรกิจได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

สำหรับที่ตั้งของบริษัท ขนส่ง จำกัด ที่ประชุมได้เห็นชอบตามผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร โดยจะย้ายไปใช้พื้นที่ราชพัสดุบริเวณหมอชิต (เดิม) บริเวณที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งกรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการสรรหาเอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

Advertisement

ในอนาคตอันใกล้นี้ สถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่มีความทันสมัยและจะเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมแห่งใหม่ของมหานคร รวมถึงเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ในขอบเขตและบริเวณสถานีตามแนวคิด Transit Oriented Development : TOD สำหรับนำไปใช้ในการวางแผนการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางต่างๆ ที่มีความเหมาะสมตามแนวนโยบายของรัฐบาลต่อไป

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image