คัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำดีเด่นประจำปี 2561

คัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำดีเด่นประจำปี 2561 รอบสองคัดกรองเหลือ 6 กลุ่ม จากทั้งหมด 16 กลุ่มจากทั้งประเทศ

นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ  ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน เปิดเผยถึงผลการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2561 ว่าคณะอนุกรรมการดำเนินการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำดีเด่น ได้คัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำดีเด่นรอบที่สองจำนวน 6 กลุ่ม จากที่ผ่านรอบแรก 16 กลุ่มจากทั้งประเทศ โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้

1.กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลองเคียน จ.สงขลา 2.กลุ่มผู้บริหารการใช้น้ำคลอง 11 ขวา-1 ซ้าย จ.กาญจนบุรี 3.กลุ่มผู้บริหารการใช้น้ำ ต.วังหว้า จ.ระยอง 4.กลุ่มผู้บริหารการใช้น้ำท่ายาง จ.เพชรบุรี
5.กลุ่มผู้บริหารการใช้น้ำมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม 6.กลุ่มผู้บริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด จ.บุรีรัมย์

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ จะตรวจประเมิน 6 กลุ่มในพื้นที่ต่อไป เพื่อคัดเลือกอันดับ 1-4  โดยอันดับ 1 รับรางวัลโล่พระราชทานในวันพืชมงคล ปี 2561 พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท รองอันดับที่ 1 ได้รับรางวัลเป็นเงิน 70,000 บาท รองอันดับ 2 ได้รับ 50,000 บาท และรองอันดับ 3 ได้ 30,000 บาท ที่เหลือเป็นรางวัลชมเชยรางวัลละ 10,000 บาท

Advertisement

“เป็นการให้กำลังใจเกษตรกรในการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานทำประโยชน์ร่วมกัน  แต่ละกลุ่มมีความเข้มแข็งต่างกันไปคนละด้าน  การประกวดเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรมุ่งมั่นพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น  รวมทั้งเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มในขณะมีกิจกรรมนำเสนอผลงานร่วมกัน 3-4 วัน” นายสุจินต์กล่าว

นอกจากการนำเสนอผลงานด้วยตัวแทนกลุ่มบนเวทีแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานหรือแนวความคิดของแต่ละกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อให้คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาด้วย

นายสุจินต์กล่าวว่า  กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนมุ่งมั่นให้เกษตรกรรวมกลุ่มแก้ปัญหาน้ำด้วยตัวเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน  โดยผ่านเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) ซึ่งประกอบด้วยเกษตรกรในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ชลประทาน และหน่วยงานต่างๆ เข้าไปส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำ

“เกษตรกรรู้ปัญหาตัวเองดีที่สุด คสป. เป็นเพียงผู้เข้าไปจุดประกาย ให้เขาคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม กรมชลประทานพร้อมสนับสนุนด้านเทคนิค ความรู้ด้านวิชาการ ตลอดจนงบประมาณบางส่วน ขณะนี้กลุ่มผู้ใช้น้ำที่เข้มแข็งเขาสามารถระดมทุน ระดมแรงงานเองได้ ช่วยให้แก้ไขปัญหาได้รวดเร็วขึ้น แทนการรองบประมาณจากกรมชลประทานฝ่ายเดียว ซึ่งต้องใช้เวลานานและอาจไม่ทันกับสภาพความเดือดร้อน”

 

สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำดีเด่นนั้น อาศัยกรอบที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้ ได้แก่ ความคิดริเริ่ม ความสามารถในการบริหารจัดการสถาบัน  บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน และการทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image