ติดตามสถานการณ์ผลผลิตสับปะรด ปี 60 เตรียมแผนแก้ปัญหาผลผลิตกระจุกตัว

กรมส่งเสริมการเกษตร เผยผลการติดตามสถานการณ์การผลิตสับปะรดปี 60 พบผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.47 แต่ยังไม่เกินความต้องการของตลาดทั้งโรงงานแปรรูป และตลาดผลสด แต่หวั่นผลผลิตสับปะรดกระจุกตัวช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม จึงเตรียมแผนแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

นายสำราญ  สาราบรรณ์  รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร  เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การผลิตสับปะรดในปี 2560 พบว่าพื้นที่ปลูกและสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตสับปะรดได้มีทั้งหมด 27 จังหวัด พื้นที่ 0.491 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ผ่านมา ร้อยละ 7.46 โดยปริมาณผลผลิตสับปะรดในปี 2559 มีปริมาณ 2.04 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 11.47 ซึ่งผลผลิตสับปะรดเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา และแม้ว่าปริมาณผลผลิตสับปะรดในปีนี้จะเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ตลาดรองรับผลผลิตได้ทั้งในส่วนของโรงงานแปรรูป และตลาดผลสด แต่ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลว่าผลผลิตอาจจะกระจุกตัวมีปริมาณมากออกสู่ตลาดใน 2 ช่วงของปี ได้แก่ ช่วงแรกเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสับปะรดตกต่ำได้

ในเบื้องต้นกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เตรียมแผนรับมือเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้กับเกษตรกรกับสถานการณ์ผลผลิตสับปะรดที่มีแนวโน้มว่าจะกระจุกตัวในช่วงเวลาดังที่กล่าวไปข้างต้น โดยได้จัดทำแนวทางในการดำเนินงาน พร้อมทั้งขอความร่วมมือไปยังจังหวัดให้ช่วยบริหารจัดการผลผลิตสับปะรด ปี 2560 ดังนี้

Advertisement

1.บูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กลไกการดำเนินงานของคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เช่น จัดงานรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคสับปะรดผลสดในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก รวมถึงส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับผู้ประกอบการ เป็นต้น

2.ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่าผลผลิตสับปะรดในภาพรวมยังไม่ล้นตลาดและเกินความต้องการของโรงงานแปรรูป เพื่อไม่ให้เกษตรกรตื่นตระหนกจนเร่งเก็บผลผลิตทำให้มีปัญหาเรื่องคุณภาพตามมา พร้อมทั้งชีแจงให้เกษตรกรได้ทราบถึงปัญหาที่ตามมา หากเกษตรกรยังจะขยายพื้นที่ผลิตสับปะรดเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทำให้เสี่ยงต่อการขาดทุนสูงในช่วงที่ผลผลิตกระจุกตัว ราคาตกต่ำ โรงงานไม่รับซื้อเนื่องจากผลผลิตไม่ได้คุณภาพ รวมทั้งปัญหาในอนาคตหากตลาดต่างประเทศไม่รับซื้อผลผลิตที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เหมือนสินค้าเกษตรบางชนิดที่กำลังจะประสบกับปัญหาดังกล่าวอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากสารไนเตรทที่ตกค้างในเนื้อสับปะรดจะส่งผลต่อการสึกกร่อนของกระป๋องดุก ดังนั้นหากโรงงานใดตรวจพบสารดังกล่าวในปริมาณเกินกว่าที่กำหนดก็จะถูกปฏิเสธการรับซื้อ หรือรับซื้อในราคาที่ต่ำ จึงจำเป็นต้องเร่งให้ความรู้และชี้แจงให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการผลิตสับปะรดส่งโรงงานด้วยเช่นกัน

Advertisement

สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกสับปะรดอยู่ห่างไกลโรงงานแปรรูประยะทางมากกว่า 50 กิโลเมตรเกษตรกรควรวางแผนการผลิตโดยเน้นส่งผลสดมากกว่าส่งโรงงานเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งและไม่กระทบต่อราคาผลผลิต นอกจากนี้การส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นสถาบันเกษตรกร สหกรณ์ หรือดำเนินการในลักษณะการผลิตแบบแปลงใหญ่ ยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งส่งเสริมสนับสนุน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกษตรกรมีความยั่งยืนในอาชีพสืบต่อไป

3.สำหรับจังหวัดที่มีโรงงานสับปะรดตั้งอยู่ในพื้นที่ ภาครัฐได้ขอความร่วมมือกับโรงงานช่วยเร่งหรือเพิ่มปริมาณการรับซื้อผลผลิตสับปะรดต่อวันหากกำลังการผลิตยังรับได้อยู่ เพื่อลดปัญหาผลผลิตของเกษตรกรตกค้างอยู่หน้าโรงงานจนเกิดความเสียหาย

4.จังหวัดควรให้ความสำคัญกับเรื่องการให้ข่าวออกสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อให้ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรรับทราบและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์จริงอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตามจากแนวทางในการดำเนินงานต่างๆ ที่ภาครัฐเตรียมพร้อมกับการรับมือปัญหาผลผลิตสับปะรดกระจุกตัว นับเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำโดยการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่การทำเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image