โครงการ 9101 ต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างเข้าถึง

ประธานคณะกรรมการเครือข่าย ศพก.ระดับประเทศ ตัวแทนภาคประชาชน ชี้โครงการ 9101 โครงการที่เป็นต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างเข้าถึงเกษตรกร

นายเชิดชัย  จิณะเสน  ประธานคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ระดับประเทศ กล่าวว่า จากการที่ ครม.อนุมัติงบประมาณกว่า 22,000 ล้านให้กับ“โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” นั้นถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าภาคภูมิใจของเกษตรกรทั่วประเทศ เพราะโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมของประเทศตั้งแต่ฐานราก โดยมีหัวใจหลักๆ ก็คือการนำแนวทางการทำเกษตรตามการทฤษฎี รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานไว้

 

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ จะเน้นการใช้งบประมานของภาครัฐผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ และเครือข่าย 8,219 ศูนย์ เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนโครงการของชุมชน ซึ่งทุกชุมชนจะต้องมีการนำเสนอโครงการพัฒนากิจกรรมการเกษตรของชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ส่วนการเบิกจ่ายเงินที่ใช้ในโครงการจะเป็นการเบิกจ่าย           ในลักษณะที่ไม่ได้เป็นการจ่ายเงินโดยตรงให้กับกลุ่มเกษตรกร แต่จะจ่ายตรงในลักษณะค่าวัสดุอุปกรณ์ตามความเป็นจริง ตรงจุดนี้จะทำให้การใช้เงินมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ และไม่ผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ มีความโปร่งใสโดยคนในชุมชนสามารถตรวจสอบได้

Advertisement

อย่างไรก็ดีหลังจากที่ครม.อนุมัติงบประมาณในโครงการดังกล่าว ขณะนี้ทุกชุมชน ทั่วประเทศได้มีการขับเคลื่อนส่งแผนการพัฒนากิจกรรมการเกษตรระดับชุมชนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรายละเอียดการพัฒนานั้นจะมีความแตกต่างกันไป ในแต่ละชุมชน  แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ทุกกิจกรรมเป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยกิจกรรมที่เกษตรกรมีความต้องการมากเป็นลำดับต้นๆ ก็คือการพัฒนากิจกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้ในชุมชน

“จากความต้องการของเกษตรกรในการที่จะพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อไว้ใช้ในชุมชนนั้น ถือเป็นเรื่องที่ตอบสนองนโยบายของภาครัฐได้ตรงประเด็นเช่นกัน เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมีให้น้อยลง เพราะต้องการให้ผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวทางการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลกที่ต้องการผลผลิตอินทรีย์มีความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน รวมถึงลดต้นทุนการผลิตให้น้อยลงเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ และขยายช่องทางการตลาดไปสู่ตลาดระดับบนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคเกษตรกรรมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีพในอาชีพนี้ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไปนั่นเอง” นายเชิดชัย  กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image