“แพทย์ฉุกเฉิน” ชูระบบ AOC บริหารรถพยาบาลแบบรวมศูนย์-ช่วยผู้ป่วยได้รวดเร็ว

“แพทย์ฉุกเฉิน” ชูระบบ AOC บริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ชม ฝีมือพัฒนาโดนคนไทยทุ่นงบฯนำเข้าจากเมืองนอกถูกกว่าครึ่ง

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นพ.รัฐระวี พัฒนรัตนโมฬี นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวถึงการพัฒนาระบบบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ (Ambulance Operation Center : AOC) ว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน จึงได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เทลลี่ 360 จำกัด ในการคิดค้นและพัฒนาระบบ AOC ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แพทย์ฉุกเฉิน 1 คนสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้นกว่าเดิม โดยระบบ AOC จะถือเป็นหัวใจและมันสมองที่จะประจำอยู่ในรถพยาบาลทุกคัน เพื่อเชื่อมต่อกับศูนย์สั่งการ ซึ่งจะอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ศูนย์

“ศูนย์สั่งการจะเชื่อมต่อกับระบบบนรถพยาบาล เมื่อมีเรียกรถพยาบาล ผ่านแอพลิเคชั่น A-Live หรือโทร.1669 ศูนย์ฯจะส่งรถพยาบาลที่เหมาะสมและใกล้ที่สุดไปช่วยเหลือ โดยผู้ป่วยจะรู้ด้วยว่า รถพยาบาลจะมาถึงภายในกี่นาที หรืออยู่ที่ไหนแล้ว เมื่อถึงมือเจ้าหน้าที่และแพทย์บนรถจะทำการรักษาตามขั้นตอนระหว่างนำส่งโรงพยาบาล รวมทั้งสามารถปรึกษาอาการกับแพทย์ที่โรงพยาบาลปลายทางได้แบบเรียลไทม์ เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที” นพ.รัฐระวี กล่าว

นพ.รัฐระวี กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้เริ่มทดลองใช้แล้วที่ จ.พระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดแรก ก่อนกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ สำหรับ จ.ขอนแก่นได้เริ่มทดลองนำมาใช้ติดตั้งให้รถพยาบาลไปแล้วทั้งสิ้น 14 อำเภอ หลังจากเริ่มใช้ประโยชน์ที่เห็นชัดที่สุด คือ สามารถเริ่มต้นให้การรักษาผู้ป่วยที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โอกาสรอดชีวิตก็มีมากขึ้น โดยบุคลากรทางการแพทย์ค่อนข้างพึงพอใจในตัวระบบ AOC ที่เข้ามาปิดช่องว่างต่างๆของวงการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งการช่วยให้แพทย์รักษาผู้ป่วยฉุกเฉินได้ตั้งแต่บนรถพยาบาล อีกทั้งเมื่อทุกอย่างรวมศูนย์ก็จะสามารถจัดสรรรถฉุกเฉินที่เหมาะสมและใกล้ที่สุดไปรับผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญเทคโนโลยีนี้เป็นการคิดค้นและพัฒนาโดยคนไทย ทำให้เข้าใจธรรมชาติของระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศ และสามารถลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าระบบลักษณะเดียวกันนี้จากต่างประเทศ ที่ตกราวคันละ 1 ล้านบาท ลดลงได้มากกว่าครึ่ง และมีประสิทธิภาพเหนือกว่าด้วย

Advertisement

ด้าน นายกิจกมน ไมตรี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทลลี่ 360 จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาระบบ กล่าวเสริมว่า นอกจากระบบ AOC แล้ว บริษัทฯ ยังคิดค้นเทคโนโลยีสำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อมารองรับกับระบบดังกล่าว และให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต คือแอพพลิเคชั่นและริสแบนด์ชีวิตละมุน (A-Live) ที่เสมือนเป็นตัวช่วยในการดูแลสุขภาพ สามารถคำนวนการก้าวเดิน การเผาผลาญแคลอรี่ คำนวนเวลานอนหลับ การเต้นของหัวใจ ออกซิเจนในเลือด วัดความดัน โดยจะเชื่อมต่อกับแอพฯ A-Live ที่สามารถบันทึกข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลประกันชีวิต ข้อมูลการติดต่อครอบครัว ซึ่งเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุกะทันหัน เพียงกดรูปรถพยาบาลเพื่อขอความช่วยเหลือ ระบบจะส่งสัญญาณไปยังศูนย์สั่งการ หรือโทรเข้า 1669 โดยอัตโนมัติ อีกทั้งเมื่อทีมกู้ชีพพบผู้ป่วยที่สวมใสริสแบนด์ ก็สามารถสแกนข้อมูลบาร์โค้ดบนริสแบนด์ เพื่อดูข้อมูลสุขภาพและส่งไปยังโรงพยาบาลปลายทาง ทำให้การรักษารวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังแจ้งเตือนส่งข้อมูลไปยังครอบครัวเพื่อให้รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image