“คิง” สานฝันเกษตรกรมอบ 3 ทุนพอเพียง ปั้นโครงการต้นแบบตามศาสตร์พระราชา

กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการดำเนินธุริจ มาตลอดระยะเวลา 40 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เดินหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability Development) ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สนับสนุนให้สาธารณชนทั่วไปได้ศึกษา เรียนรู้ และพัฒนาวิถีชีวิตตาม  “ศาสตร์พระราชา”  และเปิดโอกาสให้เกษตรผู้ที่มีศักยภาพและความตั้งใจจริง ส่งโครงการเข้าประกวดในโครงการ “ทุนพอเพียง” โดยกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจาก ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร แห่งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ  ทั้งนี้เพื่อรับทุนสนับสนุนการเริ่มต้นให้แก่เกษตรกร จาก 3 พื้นที่ จำนวน 3 ทุน ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เพื่อต่อยอดการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การแบ่งปันความรู้ หรือ ภูมิปัญญาแก่ผู้อื่นต่อไป และนำไปพัฒนาเป็นโครงการต้นแบบพอเพียงในการบริหารจัดการพื้นที่ตามศาสตร์พระราชา โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในเรื่องการปลูกข้าว เพื่อร่วมอนุรักษ์พันธุ์ข้าวท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงปลูกฝังให้คนไทยรักและหวงแหน เพื่อให้ข้าวไทยดำรงอยู่บนผืนแผ่นดินไทยตลอดไป

ทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อช่วยให้คนไทย มีความเป็นอยู่ที่ดี พอมี พอกิน พอใช้ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม เติบโตอย่างยั่งยืน   โดยมีโครงการที่ผ่านการคัดเลือกดังนี้  1) โครงการ ปั้นแท็งค์ กู้ดอย @ แม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2) โครงการ ปลูกป่า กู้ดิน@ท่าคันโท  ที่จังหวัดกาฬสิทธุ์ และ 3)โครงการ “ก่อคันนา กู้ข้าว@คลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

 

Advertisement

โครงการ “ปั้นแท็งค์ กู้ดอย @ แม่ลาน้อย” จังหวัดแม่ฮ่องสอน

โครงการเล็กแต่ยิ่งใหญ่ของ น้องหนุ่ม   “นายเอกพันธ์ เกียรติภูทอง”  หนุ่มน้อยวัย  23  ปี จากดอยสูงแม่ฮ่องสอน ด้วยแนวคิดและมุ่งมั่นน้อมนำศาตร์แห่งพระราชาด้านการเกษตรมาใช้พัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิด สร้างประโยชน์ให้คนในหมู่บ้านแม่กวางเหนือ ต.ท่าผาปุ้ม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน    ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาปกากะญอ จำนวน 30 ครัวเรือน มีผู้อยู่อาศัยกว่าร้อยชีวิต ได้มีน้ำใช้ในการเกษตรช่วงหน้าแล้ง

Advertisement

โครงการ “ปั้นแท็งค์ กู้ดอย” คือ โครงการสร้างแท็งค์น้ำขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร สูง 3 เมตร ขนาดจุ 7,000 ลิตร ไว้บนดอยสูง  และขุดคลองไส้ไก่ที่เชื่อมต่อลงสู่พื้นที่เกษตรกรรมด้านล่าง  เพื่อไว้ใช้ในการเกษตรช่วงหน้าแล้ง หนึ่งในโครงการต้นแบบพอเพียงตามศาสตร์พระราชา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรเครือข่ายพอเพียง แนวร่วมภาคราชการที่ร่วมสนับสนุน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลท่าผาปุ้ม  โรงเรียนบ้านแม่กวางเหนือ  ตลอดจนข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น และเยาวชนในท้องถิ่น มาร่วม “เอามื้อ” แสดงพลังสามัคคีลงแรง มาร่วมแรง ร่วมใจ ก่อสร้าง แท็งค์เก็บน้ำ ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไป  ซึ่งถือเป็นการลงรากฐานการพัฒนาท้องถิ่นจากสิ่งที่มีและร่วมมือกันตามศาสตร์พระราชา ให้เกิดความมั่งคงในระยะยาว

นายเอกพันธ์ เกียรติภูทอง เล่าว่า  “ตนเองจบการศึกษาระดับ  ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่  ไม่รู้จะเรียนต่อด้านการเกษตรอะไรดี จึงเดินทางกลับบ้านตั้งใจจะทำสวนเกษตรอินทรีย์  และได้ไปทำงานอบต.ในโครงการการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่สูงร่วมกับโครงการหลวงทำอยู่ปีกว่า  อบต.ก็มีโครงการจัดการกับพื้นที่สูง ก็ไม่รู้ว่าจะเอาโมเดลไหนมาจัดการทำให้เหมาะสอดคล้องกับพื้นที่ภูมิศาสตร์บนดอยนี้   ก็ได้รับคำแนะนำให้เข้าอบรบและเรียนรู้เกี่ยวกับศาตร์แห่งพระราชา ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง  เมื่อปี 2558  จึงเกิดแรงบันดาลใจน้อมนำศาตร์แห่งพระราชา และประสบการณ์ที่ได้รับมาปรับใช้ในพื้นที่บ้านเกิด  แต่จะทำเกษตรให้ได้ผลดีสม น้ำมีส่วนสำคัญมาก จึงคิดจะแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญก่อน

 

โดยตั้งใจที่พัฒนาต่อยอดทำที่เก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร และอุปโภค บริโภค ในหน้าแล้ง เพื่อให้คนในหมู่บ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่นยืน  แต่ด้วยความที่ไม่มีทุนจึงตั้งใจหางานทำเพื่อเก็บเงินมาเป็นทุนในการดำเนินการสร้างตามความฝัน  และพอทราบข่าวโครงการทุนพอเพียง โดยกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง จะมอบทุนสนับสนุนเกษตรกรที่ความพร้อม มีความตั้งใจ และมีความคิดที่จะพัฒนาการทำเกษตรแบบยั่งยืน  จึงส่งโครงการ “ปั้นแท็งค์ กู้ดอย ทันที เพื่อขอรับทุน  และดีใจมากที่โครงการฯ ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบพอเพียงตามศาสตร์พระราชา  และได้รับทุนนำมาพัฒนาบ้านเกิดตามความตั้งใจ  และจะให้ที่นี่เป็นแบบอย่างและเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่สูงแก่ชาวบ้านในจ.แม่ฮ่องสอนด้วย” นายเอกพันธ์ กล่าว

โครงการสอง “ปลูกป่า กู้ดิน@ท่าคันโท”  ที่ 2 เกษตรกรจังหวัดกาฬสิทธุ์ มุ่งหวังคืนป่าฟื้นผืนดินให้ธรรมชาติ 

นายสังทอง ตะคุ และนางทองพูล ตะคุ

โครงการ “ปลูกป่า กู้ดิน@ท่าคันโท” หนึ่งในโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการให้ได้รับทุนจากโครงการทุนพอเพียง และเป็นโครงการต้นแบบพอเพียงตามศาสตร์พระราชา ด้วยแนวคิดที่จะทำโครงการในรูปแบบ “สวนทำธรรม กสิกรรมวิถี ปลดหนี้สร้างสุข โคก หนอง นา  และที่พักสงฆ์”  ของ นายสังทอง ตะคุ และนางทองพูล ตะคุ  สองสามีภรรยาจากจังหวัดกาฬสินธุ์

ทั้งคู่ เล่าให้ฟังว่า “จุดเริ่มต้นจากการขอร้องของลูกชายที่บวชเป็นพระ ให้ไปเข้าร่วมอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ได้เรียนรู้ศาตร์แห่งพระราชา เราจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะปรับเปลี่ยนจากวิถีเกษตรแบบเดิม มาเป็นวิถีเกษตรอินทรีย์แบบพอเพียงเพื่อความยั่งยืน พลิกฟื้นคืนผืนป่าให้ธรรมชาติ  ด้วยการปรับพื้นที่ รวม 16 ไร่  ซึ่งเป็นที่ของตัวเองและครอบครัวในหมู่บ้านดงสมบูรณ์ อ.ท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ เตรียมทำศูนย์เรียนรู้ เพื่อแบ่งปันความรู้ หรือ ภูมิปัญญาแก่ผู้อื่นต่อไป ซึ่งตนเองได้ปลูกยางนา และมะค่า เป็นไม้ยืนต้นที่ได้มาจากเพื่อนบ้านให้มา และก็ทำเรื่องขอจากศูนย์เพาะพันธุ์กล้าไม้ของจังหวัดครับ”

โดยโครงการนี้จะ “เอามื้อ” จากเกษตรกรเครือข่ายทั่วประเทศมาช่วยกันปลูกกล้าไม้ในพื้นที่ ช่วงปลายเดือนนี้  หากดำเนินการในส่วนแรกประสบความสำเร็จ มีเครือข่ายเข้ามาช่วยกันพัฒนาท้องถิ่น ก็พร้อมที่จะขยายพื้นที่ออกไปอีก 30 ไร่ และอยากให้มีการส่งเสริมและให้ความรู้ด้านการบริการจัดการเงินทุน เพื่อโครงการนี้สามารถอยู่ด้วยตนเอง ไปชั่วลูกชั่วหลาน”

โครงการสาม “ก่อคันนา กู้ข้าว@คลองลาน” จังหวัดกำแพงเพชร ของอดีตข้าราชการที่หวังอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยให้ลูกหลานไทย

นางอรพันธ์ พูลสังข์

และอีกหนึ่งโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการให้ได้รับทุนจากโครงการทุนพอเพียง และเป็นโครงการต้นแบบพอเพียงตามศาสตร์พระราชา ที่ร่วมอนุรักษพันธุ์ข้าวท้องถิ่น โดยเกษตรกรเครือข่ายจะร่วมกัน “เอามื้อ” หรือการแสดงพลังสามัคคีลงแรง มาร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อปั้นคันนาในพื้นที่ในช่วงเดือนตุลาคม 2560  ให้กับ

นางอรพันธ์ พูลสังข์  อดีตข้าราชการ ที่ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรอย่างจริงจัง ที่บ้านคลองใหญ่ใหม่ ตำบลคลองน้ำไหล อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เล่าให้ฟังว่า “ภาคภูมิใจที่ได้เกิดในแผ่นดินไทย และมีพระราชาที่ทรงรักและเสียสละเพื่อประชาชนอย่างมาก เพื่อให้คนไทยได้อยู่ดีกินดี ตนเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ประสบปัญหาในการทำการเกษตร ด้วยพื้นที่นามีสภาพตามภูมิศาสตร์เป็นที่ต่ำ และลาดเอียง ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้  ส่งผลทำนาได้อย่างเดียวเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น หลังจากได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรม และเรียนรู้เกี่ยวกับศาตร์แห่งพระราชา ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จึงเกิดแรงบันดาลใจและได้น้อมนำศาสตร์แห่งพระราชา มาปรับใช้ในพื้นที่นาที่บ้านเกิดให้หัวคันนาสามารถทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

จึงนำเสนอโครงการ “ก่อคันนา กู้ข้าว@คลองลาน เข้าประกวด ด้วยแนวคิดที่ต้องการปรับเปลี่ยนพัฒนาพื้นที่นา 9 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสามารถอยู่อย่างพอเพียง สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ด้วยการปรับเปลี่ยนคันนาเดิมที่มีขนาดเล็ก มาปั้นคันนาใหม่ที่มีความกว้าง 1.2 เมตร สูง 1.5 เมตร จะประกอบด้วยคันนา ร่องน้ำ และที่นา   โดยการขุดร่องน้ำขนาดเล็กเสริมหัวคันนาให้สูงขึ้น  เหมือนเป็นการยกร่องนาขึ้นมาเสริมหัวคันนา ซึ่งบนหัวคันนาสามารถปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร หรือพืชที่สามารถแปรรูป-บริโภคได้ และข้าว  ร่องน้ำพื้นที่เกษตรใหม่นี้จะสามารถเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง  เลี้ยงหอย และกักเก็บน้ำได้ เป็นหัวคันนาทองคำที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน”

ซึ่งโครงการต้นแบบพอเพียงตามศาสตร์พระราชาทั้ง 3 โครงการนี้ จะเป็นสถานที่สำหรับให้สาธารณชนทั่วไปได้ศึกษา เรียนรู้ และพัฒนาวิถีชีวิตตาม  “ศาสตร์พระราชา” ต่อยอดการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การแบ่งปันความรู้ หรือ ภูมิปัญญาแก่ผู้อื่นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image