เกษตรฯ จัดชุดใหญ่เคลียร์ทุกข้อสงสัยพาราควอต

กรมวิชาการเกษตร เปิดฉากเคลียร์พิจารณาคำขอต่ออายุใบสำคัญขึ้นทะเบียนพาราควอตตามกฎหมายให้เฉพาะผู้ประกอบการรายเดิม พร้อมการันตีพืชผัก GAP ปลอดภัย สุ่มตรวจทั้งปีกว่า 9,000 ตัวอย่าง ผลวิเคราะห์สารพิษตกค้างพบไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ใช้ข้อมูลวิชาการยันพาราควอตแทบไม่มีโอกาสตกค้างในพืชผัก

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจง กรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน คัดค้านการต่ออายุวัตถุอันตรายพาราควอตทั้งที่สามารถชะลอการต่อทะเบียนออกไปก่อนได้ เนื่องจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่ได้พิจารณาให้ความเห็น และจะดำเนินการทางกฎหมายต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั้น

กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุม การขึ้นทะเบียน และควบคุมการผลิต นำเข้า ส่งออก และจำหน่ายวัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้พิจารณารับขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอต ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันรวมประมาณ 300 ทะเบียน ซึ่งอายุของใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายตามกฎหมายกำหนดไว้ 6 ปี และผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอต่ออายุก่อนที่ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนจะหมดอายุตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องการขึ้นทะเบียนและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนฯ

Advertisement

ดังนั้นหากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยังไม่มีการประกาศห้ามใช้ กรมวิชาการเกษตรต้องดำเนินการพิจารณาคำขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนฯ เนื่องจากตามขั้นตอนทางกฎหมายการต่ออายุไม่สามารถชะลอได้ โดยคณะอนุกรรมการได้พิจารณาข้อมูลความเป็นพิษของวัตถุอันตราย ผลการวิเคราะห์ของผลิตภัณฑ์ และผลการทดลองประสิทธิภาพ และรายละเอียดอื่นๆ แล้ว พบว่ามีเอกสารครบถ้วนและถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงมีมติเสนอให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนได้ แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่ขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอตซึ่งมีจำนวน 79 คำขอ กรมวิชาการเกษตรยังไม่พิจารณารับขึ้นทะเบียนจนกว่าจะมีผลการพิจารณาชัดเจนจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย

อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาแล้วมีมติว่าวัตถุอันตรายพาราควอต เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ตามข้อเสนอจากคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข กรมวิชาการเกษตร ก็จะเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตรายที่ขึ้นไปแล้วรวมทั้งที่ต่ออายุทันที และเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกำหนดวัตถุอันตรายพาราควอต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้าม ผลิต นำเข้า ส่งออก และขาย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่กลุ่มไทยแพนสุ่มตรวจผักและผลไม้ในช่วงเดือนสิงหาคมจำนวน 150 ตัวอย่างในห้างค้าปลีกและตลาดสด และพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน MRL ทั้งหมดร้อยละ 46 โดยพบมีสารพาราควอตตกค้างในพืชผักผลไม้หลายชนิดได้แก่ ผักคะน้า พริก ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี มะละกอ และมะพร้าวน้ำหอมนั้น ในช่วงปี 2560 กรมวิชาการเกษตรได้สุ่มตัวอย่างสินค้าพืชเพื่อตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างจำนวน 9,483 ตัวอย่าง ทั้งประเทศ

Advertisement

โดยตัวอย่างพืชที่สุ่มตรวจมีจำนวนทั้งหมด 143 ชนิดพืช ได้แก่ ส้มเปลือกล่อน พริก ผักชี คะน้า ฝรั่ง ถั่วฝักยาว ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างจากห้องปฏิบัติการจำนวน 9,483 ตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างพืชจากแหล่งผลิตพืช GAP และจุดจำหน่าย จำนวน 5,012 ตัวอย่าง เกินค่า MRL จำนวน 145 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 2.89 ส่วนตัวอย่างพืชจากแหล่งผลิตพืชที่สมัครเข้าระบบ GAP และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ จำนวน 4,471 ตัวอย่าง พบเกินค่า MRL จำนวน 365 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 8.16 ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์สารพิษดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสินค้าพืชที่อยู่ในระบบ GAP มีความปลอดภัยสูงกว่าสินค้าพืชที่ยังไม่ได้ผ่านเข้าสู่ระบบ GAP

ทั้งนี้ ในปี 2561 กรมวิชาการเกษตรมีแผนที่จะดำเนินการสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างจากแหล่งผลิตพืช GAP จำนวน 4,379 ตัวอย่าง แผนการสุ่มตัวอย่างประกอบการตรวจรับรองจำนวน 2,415 ตัวอย่าง และจะสุ่มเก็บตัวอย่างตามโครงการบูรณาการตลาดสดอีก จำนวน 800 ตัวอย่าง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในการบริโภคพืชผักและผลไม้ที่ปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงในประเด็นสุดท้ายในกรณีที่กลุ่มไทยแพนอ้างว่าพบสารพารา ควอตตกค้างในพืชผักผลไม้หลายชนิดนั้น ว่า ตามข้อมูลทางวิชาการ กรณีผักกินใบเกษตรกรจะใช้พาราควอต ๒ ระยะคือ พ่นกำจัดวัชพืชก่อนปลูกผัก ซึ่งละอองพาราควอตส่วนใหญ่จะสัมผัสกับวัชพืช มีส่วนน้อยที่จะตกลงสู่ดิน และ รากของต้นผักไม่สามารถดูดสารพาราควอตจากดินได้ เนื่องจากพาราควอตเมื่อลงสู่ดินจะถูกอนุภาคของดินดูดยึดไว้อย่างเหนียวแน่น และเกษตรกรจะพ่นพาราควอตกำจัดวัชพืชระหว่างแถวหลังจากผักงอกแล้ว โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ละอองสารสัมผัสใบผัก

ดังนั้นโอกาสที่ผักจะได้รับสารพาราควอตมีน้อยมาก หรือกรณีมีลมแรงขณะพ่นละอองสารพาราควอต อาจปลิวไปสัมผัสกับใบผักได้ ทำให้ใบผักที่ได้รับสารแห้งตาย แต่เกษตรกรจะคัดใบที่มีรอยทำลายทิ้ง ก่อนนำไปจำหน่ายอยู่แล้ว ดังนั้นจากวิธีการใช้ของเกษตรกรทั้งสองระยะในพืชผักดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าพาราควอตแทบจะไม่มีโอกาสตกค้างในพืชผักที่จำหน่ายในท้องตลาดได้เลย

ส่วนกรณีการใช้สารพาราควอตไม้ผล โดยเฉพาะในมะพร้าวน้ำหอมซึ่งส่วนใหญ่จะให้ผลผลิตตั้งแต่ความสูง 2 เมตรขึ้นไป โดยเกษตรกรจะพ่นพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืชระหว่างแถวมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งระดับความสูงของหัวพ่นสูงจากพืชดินประมาณ 50 เซนติเมตร ดังนั้น จึงไม่มีโอกาสที่ละอองสารพารา ควอตจะสัมผัสกับใบของมะพร้าว นอกจากนี้เนื่องจากลำต้นมะพร้าวมีเปลือกสีน้ำตาล แต่ด้วยคุณสมบัติของสารพาราควอตที่ยับยั้งการสังเคราะห์แสง หรือทำลายส่วนที่เป็นสีเขียวของพืชเท่านั้น ดังนั้น โอกาสที่ละอองของสารจะซึมเข้าทางลำต้นมะพร้าวได้นั้นไม่มีเลย

“กรมวิชาการเกษตรขอยืนยันว่าการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับวัตถุอันตรายทางการเกษตรยังคงยึดหลักการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่คำนึงถึงผลประโยชน์และความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image