โครงการภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับ สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดประกวด “100 ดีไซน์ 2017 : เวทิเวอร์ ดีไซน์ คอนเทสต์” (100 Designs 2017 : Vetiver Design Contest) เปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการออกแบบชิ้นงานที่ผลิตจากใบหญ้าแฝก ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการต่อยอดไอเดียในการออกแบบผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย โดยจัดงานประกาศผลรางวัลชนะเลิศเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ ลีฟวิ่งรูม 2 ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม
ชนิสา แก้วเรือน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายกิจกรรมการตลาดและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการนำหญ้าแฝกมาใช้แก้ปัญหาการพังทลายของหน้าดิน ซี่งประโยชน์ของหญ้าแฝกนั้นนอกเหนือไปจากการป้องกันการพังทลายของดินแล้ว เรายังสามารถนำใบของหญ้าแฝกมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ด้วยเหตุนี้ สยามดิสคัฟเวอรี่ จึงร่วมกับ โครงการภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดประกวด “100 ดีไซน์ 2017 : เวทิเวอร์ ดีไซน์ คอนเทสต์” (100 Designs 2017 : Vetiver Design Contest) ขึ้น เพื่อส่งเสริมพัฒนาการออกแบบและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ พร้อมสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนให้เกษตรกรไทย เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยนำประโยชน์ของใบหญ้าแฝกมาสร้างคุณค่าที่เพิ่มขึ้น โดยการประกวดแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อด้วยกัน ได้แก่ ประเภทของตกแต่งบ้าน (Vetiver Home Decor) และ ประเภทแฟชั่น (Vetiver Fashion) ซึ่งการประกวดในครั้งนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้สมัครที่มากถึง 217 ทีม แบ่งเป็นประเภทของตกแต่งบ้าน 123 ทีม และประเภทแฟชั่น 94 ทีมโดยผู้ชนะเลิศของแต่ละประเภทจะได้รับเงินรางวัล 80,000 บาท โล่รางวัล และโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อวางจำหน่ายที่ร้านภัทรพัฒน์ และที่สยามดิสคัฟเวอรี่
ภากมล รัตตเสรี รองเหรัญญิกมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า โครงการพระราชดำริในการอนุรักษ์ดินและน้ำตามพระราชประสงค์ ก่อเกิดความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก เพื่อช่วยในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ดูดซับน้ำและช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดินด้วยรากแฝกที่ยาวและหยั่งลึกลงบนพื้นดิน ทำให้หลายพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการพังทลายของดินหมดสิ้นไป และด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดงานหัตถกรรมจากใบหญ้าแฝก โดยการส่งเสริมการฝึกอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ แก่ชุมชนต่างๆ ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อจำหน่ายในตราสินค้า “ภัทรพัฒน์” มูลนิธิชัยพัฒนา ต่อไป
สำหรับผู้ชนะเลิศการประกวดประเภทของตกแต่งบ้าน ได้แก่ รัฐพล อนุชิตานุกูล นักออกแบบอิสระ กับผลงาน Cat Portable ,รองอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Can Do Design จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับผลงาน Sansook ,รองอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Fillet จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับผลงาน Fillet Collection, รางวัลชมเชย 2 รางวัลได้แก่ ณัฐโชติ ธรรมฐิตินันท์ นักออกแบบอิสระ กับผลงาน Inside Out และ ชยากร พุ่มชุมพล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับผลงาน Error
สำหรับผู้ชนะเลิศประเภทแฟชั่น ได้แก่ ทีม Come Back Home กับผลงาน Domicile จาก ม.ราชภัฏสวนสุนันทา, รองอันดับ 1 ได้แก่ ฐากร ถาวรโชติวงศ์ นักออกแบบอิสระ กับผลงาน Heritage, รองอันดับ 2 ได้แก่ สุสิตา ศรีจรรยา จาก ม.บูรพา กับผลงาน Voven, รางวัลชมเชย 2 รางวัลจาก ม.บูรพา ได้แก่ ทีม Lerka กับผลงาน Lerka และ ปีเตอร์ ไอเค่นส์ กับผลงาน Black Hat และรางวัลสยามดิสคัฟเวอรี่ อินโนเวชั่น ได้แก่ อรรถวิโรจน์ ทองทิพย์ จาก ม.อุบลราชธานี กับผลงาน Prevent
รัฐพล อนุชิตานุกูล กล่าวว่า อยากออกแบบผลิตภัณฑ์ที่อยู่กับสัตว์อย่างเป็นธรรมชาติ จึงนำหญ้าแฝกมาออกแบบเป็นเตียงและโดมมีสายสะพายสำหรับพาไปที่ต่างๆ โดยลงพื้นที่ไปที่ อ.ภูซาง จ.พะเยา เพื่ออธิบายให้ชาวบ้านได้ฟังถึงคอนเซปต์ และสานออกมาเป็นชิ้นงานตามแบบที่เราต้องการ โดยออกแบบให้รูปทรงไม่ซับซ้อนด้วยการขึ้นรูปเป็นวงกลม สะดวกต่อการสานลวดลายที่ง่ายและชาวบ้านมีทักษะอยู่แล้ว อย่างลายเม็ดข้าว ลายเม็ดแตง สำหรับโดมแมวใช้ลายสานเดียวกัน แต่ขึ้นโดมด้วยผ้าแคนวาส เมื่อจับจีบจะทำให้ตั้งทรงอยู่ได้ มีสายรั้งขึ้นมาทำเป็นสายสะพาย สามารถพาน้องแมวไปในที่ต่างๆ ได้
ทีม Come Back Home ประกอบด้วย เศรษฐ์โภคิน เศรษฐ์สัตยาโภคิน,นภัสสร เหล่ามีผล และ รุ่งนภา ผุสดีธงไชย คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ปี 4 ม.ราชภัฏสวนสุนันทากล่าวว่า ได้แรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตชาวบ้านอย่าง หมวกงอบ, ล้อเกวียน และกระบือ นำมาสู่รูปทรงของกระเป๋าที่อิงจากแรงบันดาลใจเหล่านี้ โดยลงพื้นที่ไป อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เพื่อให้ชาวบ้านสานแฝกตามต้นแบบที่ออกแบบไว้ ซึ่งแฝกของพื้นที่นี้จะมีความลุ่ม ใบสูงยาวเนื้อแฝกมันหนา โดยนำแฝกชั้นที่ 1-2 ซึ่งมีความนิ่มมาทำลายควั่นเกลียว ชั้นที่ 3-4 มีคามหนานุ่มมาทำลายสานลายเม็ดแตง และชั้นที่ 5 ซึ่งแข็งนำมาขึ้นโครงออกมาเป็นกระเป๋ารูปทรงที่ได้แรงบันดาลใจจาก งอบ เกวียน และกระบือ ตกแต่งด้วยหนังเทียมและโลหะรมควันดำ อยากออกแบบให้สินค้าดูมีความทันสมัยมากขึ้น และวัยรุ่นสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งหลังจากได้ร่วมเวิร์กชอปในการประกวดนี้ทำให้เข้าใจและรู้จักหญ้าแฝกมากขึ้น รวมถึงได้เรียนรู้กระบวนการทำงานวิธีการคิด และรู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของการทำงานจริงได้
นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ตอกย้ำการเป็น The Exploratorium ของสยามดิสคัฟเวอรี่ ที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมอีกครั้งหนึ่ง