กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.60-32.80 มองแนวโน้มแข็งค่าต่อในปีหน้า

แฟ้มภาพ

 

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท
ในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.60-32.80 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 32.76 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลงมติตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ตามคาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 1.2 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 2.01 หมื่นล้านบาท  ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ยกเว้นเยน โดยในภาพรวมตลาดได้ปรับตัวรับข่าวการอนุมัติกฎหมายปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ไปก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่มีแรงเทขายเงินเยนหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับขึ้น อีกทั้งมีสัญญาณจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งระบุว่าจะยังคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษต่อไป

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า แม้มีแรงซื้อเงินดอลลาร์กลับเข้ามาหลังพรรคที่สนับสนุนการแยกตัวจากสเปนชนะการเลือกตั้งในแคว้นกาตาลุญญา รวมถึงความสำเร็จของวุฒิสภาสหรัฐฯ ในการอนุมัติร่างกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานราชการจนถึงวันที่ 19 มกราคม 2561แต่ปริมาณธุรกรรมที่ลดลงในช่วงสิ้นปีและสภาพคล่องการซื้อขายที่มีไม่มากในช่วงเทศกาลคริสต์มาสอาจส่งผลให้ตลาดเคลื่อนไหวมากเกินจริงตามกระแสข่าวต่างๆ ก่อนที่นักลงทุนจะกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้งหลังปีใหม่

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ข้อมูลการค้าเดือนพฤศจิกายนบ่งชี้ว่า ยอดส่งออกไทยขยายตัวสูงถึง 13.4% เมื่อเทียบรายปี ส่วนการนำเข้ายังคงฟื้นตัวต่อเนื่องในอัตรา 13.7% สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใส สอดคล้องกับการประเมินของกนง.ในเรื่องความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจว่าสมดุลมากขึ้น โดยกนง.ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของจีดีพีของไทยในปี 2560 และ 2561 เป็น 3.9% จากเดิมที่ 3.8% ด้วยปัจจัยหนุนจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างช้าๆ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง ในระยะถัดไป หากภาครัฐเบิกจ่ายลงทุนได้ตามแผน จะเป็นปัจจัยบวกเพิ่มเติมเช่นกัน นอกจากนี้ กนง.เห็นว่าค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ท่าทีดังกล่าวทำให้เรายังคงมุมมองที่ว่ามีโอกาสที่ทางการจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก่อนสิ้นปี 2561 หากแรงส่งเชิงบวกของเศรษฐกิจยังมีต่อเนื่อง ส่วนเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปีนี้เนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจลดลงหลังความต้องการนำเข้าฟื้นตัว อีกทั้งบัญชีเงินทุนมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image