เด็ก Pre-degree รามคำแหง สุดยอด เรียน 4 ปี จบ ป.ตรี-โท พร้อมกัน

นางสาวณัฏฐากร อาจสมัย

“เข็มขัดหลักศิลาพ่อขุนฯ” เป็นเครื่องแบบนักศึกษาปัจจุบันเพียงเส้นเดียวที่มองย้อนไปประมาณ 10 ปี ขณะนั้นยังคงเป็นเด็กน้อยวัย 13 ปี และยังไม่รู้ว่า “มหาวิทยาลัยรามคำแหง” คืออะไร แต่เมื่อได้เห็นพี่สาวในหมู่บ้านถอดเข็มขัดเส้นนั้นมอบให้เพื่อนของตนเองหลังจากเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมกับพูดว่า ‘นี่เป็นเข็มขัดรามคำแหงของแท้เลยนะ’ เป็นสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจตนเองอย่างมาก และสิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจตลอดมาตั้งแต่ตอนนั้นว่าอยากได้สวมใส่และสำเร็จการศึกษาเช่นเดียวกัน

นางสาวณัฏฐากร อาจสมัย หรือ บิว สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะสื่อสารมวลชน ปี 2559 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (บธ.ม.) Master Business Administration(M.B.A.) โครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ (MBA for Young Executive) ปี 2560 จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รุ่นที่ 43 พร้อมกันทั้ง 2 ปริญญา ปัจจุบันประกอบกิจการธุรกิจเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรอยู่ที่อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี โดยมีสาขาใหญ่อยู่ที่อำเภอโคกเจริญ (หจก.จันทร์เจริญการเกษตร) และกำลังขยายสาขาไปยังอำเภอใกล้เคียงโดยใช้ชื่อว่า “ณัฏฐาเคมีภัณฑ์” ในปี 2561

นางสาวณัฏฐากร กล่าวว่า ขณะที่กำลังจะจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปีที่ 5 เกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองทำให้ครอบครัวต้องล้มเลิกการทำธุรกิจทรานสปอร์ตและปั๊มน้ำมันที่จังหวัดนครปฐม และย้ายครอบครัวไปเริ่มต้นธุรกิจเคมีภัณฑ์เกษตรที่จังหวัดลพบุรี จึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน และย้ายไปอยู่กับครอบครัว

ระหว่างนั้นได้หาข้อมูลที่จะศึกษาต่อ และเห็นประกาศรับสมัครนักศึกษาระบบ Pre-degree ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงตัดสินใจสมัครเรียนทันที โดยวางแผนว่าจะลงเก็บสะสมหน่วยกิตในคณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาจีน พร้อมกับเตรียมตัวสอบไปเรียนต่อโรงเรียนมัธยมจี๋เหม่ย ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีการศึกษาถัดไป และได้สมัครเรียนที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอโคกเจริญ ไปพร้อมๆ กัน

Advertisement

“หลังจากจบการศึกษา กศน. ก็ตัดสินใจเลือกที่จะเข้ามาศึกษาต่อที่ “มหาวิทลัยรามคำแหง” ไม่ไปเรียนที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว โดยสามารถสะสมหน่วยกิตได้เพียง 36 หน่วยกิต และได้เลือกวิชาโทอยู่ในหมวดศิลปะประดิษฐ์(คหกรรม) ซึ่งวิชาส่วนใหญ่จะเป็นงานฝีมือ มีทั้งสอบภาคทฤษฎีและเน้นภาคปฏิบัติเป็นพิเศษ จากแค่มีความชื่นชอบในงานฝีมือไม่มีประสบการณ์การปฏิบัติมาก่อน เริ่มจากไม่มีพื้นฐานทักษะทางด้านนี้เลย จนสามารถปฏิบัติงานจริงได้ทุกอย่าง เวลา 1 ปีผ่านไปสำหรับการเข้าชั้นเรียน ทำให้คิดตั้งเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้นว่าจะเรียนให้จบภายในอีก 2 ปี”

นางสาวณัฏฐากร กล่าวต่อไปว่า เกิดจุดเปลี่ยนขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อสมัครเรียนระบบพรีมาสเตอร์ดีกรี (pre-masterdegree) โครงการ “ MBA for Young Executive ” (Y-MBA HUAMARK) ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี มีสิทธิ์สะสมหน่วยกิตระดับปริญญาโทก่อน ซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนเหมือนกับนักศึกษาปริญญาโททั่วไป รวมถึงการเข้าชั้นเรียน กิจกรรมต่างๆ ทำร่วมกันทั้งหมด และได้ย้ายจากสาขาในระดับปริญญาตรีมาเรียน “คณะสื่อสารมวลชน” โดยสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ทั้งหมด

การเรียนทั้ง 2 ปริญญาพร้อมกันนี้ สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้ง 7 วัน บ่อยครั้งที่ต้องเรียนตั้งแต่เวลา 8.30 – 21.00 น. ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ และบางครั้งก็มีช่วงเวลาที่สอบตรงกัน เช่น คาบช้าสอบไล่ปริญญาตรี คาบบ่ายสอบไล่ปริญญาโทก็มี แต่โชคดีที่ทั้ง 2 สนามสอบนี้อยู่ที่ม.รามคำแหง หัวหมาก ทำให้สามารถเข้าสอบได้ทันตามเวลากำหนด

Advertisement

การเรียนทั้ง 2 ปริญญาพร้อมกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “การแบ่งเวลา” เพราะจะทำกิจกรรมต่างๆที่เหมือนกันในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งการส่งงาน ทำแบบฝึกหัดและแบบทดสอบต่างๆ โดยมีเวลาจัดการทำให้สำเร็จวันต่อวันของการเรียนปริญญาตรี ในวันจันทร์-ศุกร์

ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีการ presentation นำเสนอผลงานของนักศึกษาปริญญาโทในชั้นเรียนทุกสัปดาห์ ทำให้ต้องเตรียมเนื้อหารวมถึงผลงานในช่วงระหว่างสัปดาห์เช่นกัน ส่วนการสอบทุกวิชาของปริญญาตรี จะเข้าฟังบรรยายย้อนหลังของอาจารย์ทุกครั้งเมื่อต้องกลับมาจดเลคเชอร์เพิ่มเติม พร้อมสรุปในการเรียนแต่ละวันเป็นคำพูดตามความเข้าใจของตัวเอง และใกล้สอบจะทบทวนและทำแบบฝึกหัดเก่าๆอีกครั้ง

“การสอบไม่ผ่าน” เชื่อว่าหลายคนเคยผ่านประสบการณ์นี้มาก่อน แต่ละสาขาแต่ละคณะต้องมีวิชาบังคับที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คณะสื่อสารมวลชนก็เช่นกัน วิชา “การรายงานข่าว” เคยท้อกับวิชานี้ถึงกับหยุดเรียนไปเลยก็มี แต่มันไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย กลับทำให้ยืดเวลาของความสำเร็จออกไปไกลขึ้นอีก จากที่ไม่เคยสอบตก การสอบครั้งแรกเต็มไปด้วยความมั่นใจและความคาดหวังที่สูงมาก เพราะความประมาท คิดว่าตัวเองเข้าเรียนทุกคาบต้องมีต้นทุนดีกว่าแน่นอน

แต่ที่จริงๆแล้ว “ความเข้าใจในเนื้อหาของวิชานั้นต่างหาก” ที่เรามีไม่พอที่จะผ่านบททดสอบนี้ได้ ทำให้มีการสอบครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ครั้งนี้ยังคงยึดแนวทางเดิม คือการเข้าเรียนพร้อมฝึกทำแบบทดสอบในชั้นเรียน สมัครเรียนตามสถาบันติวต่างๆ แต่ก็ยังไม่เป็นผล ณ จุดนั้นยอมรับเลยว่าท้อ หยุดลงทะเบียนวิชานี้ไปแบบถาวรจากที่เข้าเรียนติดกันๆมาตลอดทั้ง 2 เทอม

ระหว่างนั้นได้เรียนสะสมหน่วยกิตพรีมาสเตอร์แล้ว และกำลังจะขึ้นสะสมหมวดวิชาสาขารวมถึง “การค้นคว้าอิสระ”หรือที่หลายๆคนรู้จักกันในคำว่า “สาระนิพนธ์ หรือIS” นักศึกษาพรีมาสเตอร์ที่จะลงทะเบียนวิชานี้ได้นั้น จะต้องสำเร็จการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีก่อน มิฉนั้นจะไม่สามารถศึกษาในกระบวนวิชาถัดไปได้

ว่าที่บัณฑิตและมหาบัณฑิต กล่าวอีกด้วยว่า หนทางแห่งความสำเร็จเริ่มท้าทายมากขึ้น จึงมีความคิดภายใต้แรงกดดันที่จะต้องสอบครั้งที่ 3 ให้สำเร็จ แต่การสอบครั้งนี้จะพลาดไม่ได้อีกแล้ว จึงเริ่มเข้าหาเพื่อนกลุ่มให้ใหญ่ๆมากขึ้น ช่วยกันติวหลังเลิกเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และได้มีการนัดติวภายในกลุ่มทุกเย็นวันเสาร์เพื่อหัดทำแบบฝึกหัดต่างๆ เมื่อมีเวลาว่างมักจะศึกษารายละเอียดของเนื้อหาเพิ่มเติมจากตำราที่เขียนโดยอาจารย์ผู้สอน

พร้อมทั้งฝึกเขียนรายงานข่าวด้วยตนเอง อีกทั้งยังติดตามข่าวสารให้ทันสถานการณ์อยู่เสมอ ในที่สุดความอดทนมุมานะตั้งใจของเรา ทำให้ผ่านบทสอบครั้งนี้ไปได้ด้วยดี แม้ผลคะแนนสอบครั้งนี้จะออกมาไม่ดีเท่าที่ควร อย่างน้อยทำให้เราได้พิสูจน์ตัวเองได้ว่า “เราตัดสินใจถูกแล้วที่ในวันนั้นไม่ล้มเลิกที่จะศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงแห่งนี้ ไม่คิดย้ายไปมหาวิทยาลัย(ระบบปิด) เพียงแค่สอบไม่ผ่านวิชาเดียว

การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ได้อยู่เพียงในตำรา ยังสอนให้นักศึกษาใช้ชีวิตอยู่ในหลักของความเป็นจริง การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลาย เพราะที่นี่คือ “มหาลัยชีวิต” สอนให้นักศึกษาคิดเป็น กล้าลองผิดลองถูกในทางที่ควร กล้าที่จะตัดสินใจลงมือปฏิบัติ ไม่มีกฎระเบียบเข้มงวดเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป ไม่มีการบังคับให้นักศึกษาเข้าเรียน ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของตัวเราเองทั้งสิ้น ในอนาคตเมื่อต้องออกไปใช้ชีวิตนอกรั้วรามคำแหง แม้เราจะเจออุปสรรคหนักหนาขนาดไหนก็ตาม สิ่งนั้นจะไม่สามารถทำอะไรเราได้เลย เพราะเราคือ “นักสู้” ที่ถูกฝึกฝนมาให้มีวินัย มีความมุมานะ อดทน เพียรพยามที่จะเอาชนะต่อความสำเร็จ

“วันที่เราเจอวิกฤต ก็ทำให้เราได้พบโอกาสเช่นกัน.. โอกาสในที่นี้คือการรู้จักตัวเอง ว่าตัวเรานั้นรู้จักและเข้าใจในสิ่งนั้นดีพอหรือยัง เมื่อสิ่งที่คาดหวังไม่เป็นไปตามใจที่ฝันไว้ อย่าท้อ เพียงแค่บอกกับตัวเอง ว่า “เราทำได้” แล้วลงมือทำสิ่งนั้น คนที่จบรามคำแหงได้คือคนที่มีความอดทนพากเพียร ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่งเสมอไป แค่ขอให้มีความพยายามก็พอแล้ว ไม่นานความสำเร็จนั้นจะเป็นของเรา “ ไม่มีความผิดพลาดใดที่แก้ไขไม่ได้….เว้นเสียแต่คุณปล่อยปะละเลยให้ล่วงเกินเวลาอันสมควร”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image