ILO เผย“แรงงานข้ามชาติ” กว่า 320,000 คน คือกลไกสำคัญขับเคลื่อนอุตฯประมง และอาหารทะเลไทย

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผย “แรงงานข้ามชาติ” กว่า 320,000 คน จากลาวและเมียนมาร์ คือกลไกสำคัญขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทย ปี 2561 พร้อมเตรียมเปิดข้อมูลวิจัย พบสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น

โครงการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เรื่องสิทธิเรือสู่ฝั่ง ,“อ็อกแฟมในประเทศไทย, วิสาหกิจเพื่อสังคมร้านคนจับปลา, สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย และภาคีเครือข่าย   ได้ร่วมกันจัดการเสวนาพิเศษกับชาวประมง “เพราะรู้จัก จึงรู้ใจ: หลากบทบาท หลายชีวิต เบื้องหลังอาหารทะเล” ในงาน Fisherfolk in Bangkok ประจำปีครั้งที่ 4 ตอน เรื่องเล่าจากทะเล ณ สวนครูองุ่นทองหล่อ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันแรงงานข้ามชาติสากลโดยมี นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมชาวประมงอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายร่ากิยา ปราบดิน ชาวประมงพานิชย์หัวใจสีเขียว จังหวัดกระบี่ นายอังศุพล นิมิตรปัญญา ผู้บริหารบริษัท Seafood Mania และเรือกาญจนา นายเฉลิมพล โรหิตรัตนะ เชฟจากร้านราบ และนางเสาวลักษณ์ ประทุมทอง ผู้จัดการร้านคนจับปลา ร่วมแลกเปลี่ยน และดำเนินรายการโดย นายจักรชัย โฉมทองดี องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย

น.ส. สุภาวดี โชติกญาณ เจ้าหน้าที่ประสานงานของโครงการสิทธิเรือสู่ฝั่ง เปิดเผยว่า ในทุกปีองค์กรสหประชาชาติและ ILO ในฐานะหน่วยภายใต้องค์กรสหประชาชาติได้ร่วมมือกันฉลองวันนี้เพื่อยกย่องบทบาทของแรงงานข้ามชาติต่อเศรษฐกิจโลกและไทย โดยอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทยจะเจริญเติบโตและอยู่รอดไม่ได้เลยหากไม่มีแรงงานข้ามชาติ รายงานใหม่ของ ILO และ OECD แสดงให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของแรงงานประมาณร้อยละ 4.3 และ 6.6 ของผลิตผลมวลรวมประชาชาติในปี 2553 คิดเป็นร้อยละ 4.7 ของประชากรแรงงาน ณ วันนี้ อุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทยเป็นผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของโลก และพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากกว่า 302,000 คนจากประเทศกัมพูชา ลาวและพม่า

“เรื่องราวการต่อสู้ของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในตลาดอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลเคยได้ถูกรายงงานไปทั่วโลกอย่างละเอียดให้เห็นภาพอย่างชัดเจน ซึ่งความสนใจระดับโลกช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายแรงงานไทยและความพยายามอื่นๆ ที่จะป้องกันสิทธิของแรงงานประมงว่าพันๆ คนจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

Advertisement

แรงงานข้ามชาติที่ทาง ILO พยายามแก้ปัญหาการละเมิดมี 3 ประเภท คือ 1. แรงงานค้ามนุษย์ ที่ไม่ได้ยินยอมมาทำงานถูกหลอกลวงมา 2. แรงงานบังคับ คือไม่ได้ถูกหลอกมา แต่เมื่อมาทำงานแล้วก็เจอปัญหาในหลายมิติ เช่น การถูกยึดเอกสาร การต้องทำงานขัดหนี้หลังจากนายจ้างให้เงินนายหน้าไปแล้ว แรงงานก็ไปไหนไม่ได้ เป็นการเจอสภาพอย่างที่เขาไม่ได้คาดหวัง หรือสภาพการทำงานเลวร้าย 3. แรงงานเด็ก ซึ่งเวทีสากล เด็กอายุ 15-18 ปียังทำงานได้ หากไม่เป็นอันตรายกับเด็ก แต่ในอุตสาหกรรมการประมงเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีจะทำไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จากการทำสำรวจวิจัย เราจะพบปัญหาของแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงของไทยที่บ่งชี้ลักษณะของแรงงานบังคับ

อย่างไรก็ตามจากผลของการวิจัยที่กำลังจะออกในปีหน้าโดยโครงการสิทธิเรือสู่ฝั่ง งานวิจัยแสดงถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นของสภาพการทำงาน เช่น ในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติมีสัญญาว่าจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา การพบเจอลูกจ้างอายุน้อยกว่า 18 มีน้อยมาก และกรณีการทำร้ายร่างกายน้อยลง อย่างไรก็ตาม แรงงานยังประสบกับการละเมิดอย่างต่อเนื่อง อาทิ ร้อยละ 34 ของแรงงานประมงและอาหารทะเลไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำและร้อยละ 24 ของแรงงานประมงแจ้งว่าค่าจ้างบางส่วนถูกยึดโดยนายจ้างมากว่า 1 ปี”

น.ส. สุภาวดี เปิดเผยด้วยว่าโครงงานของ ILO จากการสนับสนุนของสหภาพยุโรปเพื่อต่อต้านการการละเมิดแรงงานในอุตสาหกรรมเพื่อช่วยรัฐบาลไทย ในการเข้ามาเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งนายจ้างและองค์กรนายจ้างต้องสร้างความเข้มแข็งต่อการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน  ป้องกันแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก มีการสร้างเสริมให้แรงงานข้ามชาติรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานและการช่วยผู้ประกอบการให้สามารถปรับปรุงตามมาตรฐานสากล โดยทางสหประชาชาติ เห็นว่าแรงงานข้ามชาติมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกและหลายประเทศ กลุ่มแรงงานเหล่านี้ต้องได้รับการดูแล ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ 4-5 ปีที่แล้ว ถือว่าสถานการณ์และสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะตอนนี้มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีสัญญาว่าจ้าง รายได้ต่ำสุดคือต้อง 9,000 บาทต่อเดือน ในตัวแรงงานเองก็พบว่ากรณีการทุบตีก็น้อยลง แต่ก็มีอุบัติเหตุเกิดบนเรือบ้าง ถือว่ายังมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และรายได้ผู้หญิงยังน้อยกว่าผู้ชาย

Advertisement

“ขณะนี้รัฐบาลไทยมีเจตนารมณ์จะเข้าร่วมอนุสัญญา 2 ฉบับคือ อนุสัญญาแรงงานบังคับ พิธีสารของแรงงานบังคับและการทำงานบนประมง เราช่วยรัฐบาลกำหนดกฎหมายแรงงานข้ามชาติให้เข้มแข็งขึ้น และทำงานกับนายจ้างเพื่อยกระดับให้มีแนวทางปฏิบัติแรงงานที่ดี เช่นกำหนดว่าไม่จ้างแรงงานเด็กแน่นอน สภาพการทำงานที่เท่าเทียมกันสำหรับลูกจ้างทุกคน (การไม่เลือกปฏิบัติ) หรือเกิดแรงงานมีข้อร้องเรียน จะมีช่องทางไหนได้บ้างที่จะร้องเรียนได้ และทำงานร่วมกันกับเครือข่ายภาคประชาสังคมด้วย

ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นว่า แรงงานข้ามชาติสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ทุกวันนี้ที่เรากินอาหารทะเล ถ้าไม่มีแรงงานข้ามชาติ เราก็ไม่มีกิน เราจึงจำเป็นต้องสร้างความตะหนักในสังคมว่า แรงงานเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญ เป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เกิดในอนาคตแรงงานข้ามชาติกลับบ้าน นอกจากจะไม่มีปลาให้เรากินแล้ว แทนที่ประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิต ก็จะกลายเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลแทน เราจึงควรจะมีกฎหมายที่คุ้มครองเหมือนกับเป็นคนไทยเพราะเขาอยู่บ้านเรา นั่นคือเหตุผลที่เราควรดูแลเขา ถ้าเขามีความสุข เศรษฐกิจไทยก็จะดีขึ้นด้วย”

นายอังศุพล นิมิตรปัญญา ผู้บริหารบริษัท Seafood Mania และเรือกาญจนา เปิดเผยว่า การทำธุรกิจประมงด้วยการดูแลแรงงานอย่างเป็นธรรม ถือเป็นการลดต้นทุนอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะหากดูแลอย่างเป็นธรรมแล้ว จะไม่ประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงานเลย ซึ่งธุรกิจประมงไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติในหลายกระบวนการ ซึ่งทุกคนล้วนแต่มีความเชี่ยวชาญที่จะต้องให้คุณค่าทั้งในแง่ของความเป็นมนุษย์แลทักษะอาชีพ เพื่อสร้างการประมงที่ยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

“เราทำธุรกิจประมงมาราว 40 กว่าปีแล้ว เป็นเรือของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเราดูแลแรงงานกันแบบครอบครัวและเป็นธรรม จริงๆเราเจอปัญหากันอยู่แล้วว่าแรงงานหายาก แล้วแรงงานเหล่านี้มีความสำคัญกับการทำธุรกิจประมงค่อนข้างสูงมาก เราต้องดูและอย่างดี ให้ และจะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ โดยทำรูปแบบนี้มาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ เพราะถ้าดูแลไม่ดี การที่ต้องออกไปหาแรงงานทุกเดือนเป็นปัญหา และก็มีปัญหาเรื่องโดดร่ม คือ แรงงานรับเงินไปแล้วหนี ซึ่งสามารถลดปัญหาตรงนั้นด้วยการดูแลชีวิตเขาดีๆ ลดความแตกต่างระหว่างพนักงานบนเรือและพนักงานบนฝั่ง เพราะถึงที่สุดแล้วถ้าดูแลเขาไม่ดี เขาก็ไม่อยู่กับเรา ก็เป็นต้นทุนของเราอยู่ดี  ซึ่งหนักกว่าที่เราจะเสียเงินดูแลเขาให้ดี” นายอังศุพลกล่าว

นอกจากนี้ในการเสวนาบนเวที “เพราะรู้จัก จึงรู้ใจ: หลากบทบาท หลายชีวิต เบื้องหลังอาหารทะเล”  ยังมีการยืนยันเพิ่มเติมจากทุกฝ่ายอีกด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นการทำประมงในลักษณะใด ก็ล้วนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนได้ ซึ่งหากคนในกระบวนการผลิตนั้นคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและคำนึงถึงคุณภาพชีวิตในกระบวนการผลิตแล้วนั้น เชื่อมั่นว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคสนใจสนับสนุนอาหารทะเลที่มาจากผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น

โดยนายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมชาวประมงอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาชิกของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยทั้ง 22 จังหวัด ได้พยายามขับเคลื่อนนโยบายทำการประมงอย่างรับผิดชอบและมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ โดยไม่คิดเพียงแง่ของการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องฟื้นฟูและดูแลควบคู่ไปด้วย ซึ่งคนทั่วไปเมื่อนึกถึงประมงพื้นบ้านจะนึกถึงประมงขนาดเล็กซึ่งไม่ใช่ ขนาดมีความหลากหลาย และดูที่มาสัตว์น้ำที่จะจับ แต่ที่สำคัญคือทำอย่างมีความยั่งยืน ดูแลชุมชน

“วิธีคิดหลักคือจะต้องจับปลาอย่างดูแลชุมชน ในทะเลมีการจับปลาอยู่ 2 แบบ แบบที่ 1 คือจับแบบเหมารวม สร้างเครื่องมือมาเครื่องมือเดียว แล้วได้สัตว์น้ำทุกชนิด ทุกขนาด และทำลายที่อยู่อาศัย แบบที่ 2 คือจับแบบแยกประเภท ซึ่งนี่คือความภาคภูมิใจของประมงพื้นบ้าน เช่น อยากได้ปูม้า เราก็จะอวนปูไปจับ อยากได้ปลาอินทรีย์ขนาดใหญ่ก็เอาเบ็ดไปจับ อยากได้กุ้งก็เอาอวนสามชั้นไปจับ”

ด้าน นายร่ากิยา ปราบดิน ชาวประมงพานิชย์หัวใจสีเขียว จังหวัดกระบี่ ก็เสริมว่าไมว่าจะเป้นประมงพื้นบ้านหรือประมงพาณิชย์จะต้องส่งเสริมการเลือกจับปลา โดยขณะนี้มีประมงที่เป็นเรือพาณิชย์ลำใหญ่หลายลำร่วมทำหารประมงอย่างยั่งยืนและอนุรักษ์ด้วยการแต่จับปลาเฉพาะพันธ์ ซึ่งถือว่าคือการจับปลาแบบมีความรับผิดชอบต่อชุมชน

“เราต้องส่งเสริมแบบเลือกจับ เพราะอดีตที่ผ่านมาก็เคยเห็น มันเป็นการทำลายล้างจริงๆ เมื่อครั้งที่ผมวัยรุ่น มีการปั่นไฟกันเยอะจนปลาจะหมดหายไปจากกระบี่เลย จนต้องหยุดไปหลายปีกว่าจะฟื้นคืนกลับมานี้ ซึ่งนอกจากต้นทางแล้ว ตอนนี้เราควรช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ได้ว่า ให้สนใจสนับสนุนอาหารทะเลที่มาจากผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งทุกอย่างจะเชื่อมโยงกัน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image