ป้องกัน – ดูแล แผลเบาหวานแบบง่ายๆ ได้ที่บ้าน โดยนพ. หลักชัย วิชชาวุธ

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ในปี 2552 ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีจำนวน 108 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 422 ล้านคน ในปี 2557 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 1.5 ล้านคน นอกจากนี้ ยังพบว่าประชากรทั่วโลกที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7 เป็นร้อยละ 8.5 หรือเมื่อเปรียบเทียบแล้ว พบว่า ปัจจุบันประชากรวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 11 คน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ส่วนในประเทศไทย จากรายงานของ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราตายด้วยโรคเบาหวานต่อประชากรแสนคน ในภาพรวมของประเทศในปี 2556 – 2558 เท่ากับ 14.93, 17.53 และ 17.83 ตามลำดับ เห็นได้ว่า อัตราการตายด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี และมีการสำรวจสุขภาพคนไทย โดยการตรวจร่างกายในประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป เมื่อปี 2557 พบว่าโรคเบาหวานรายใหม่ เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8.8 (คิดเป็น 4.8 ล้านคน)

ผู้ป่วยเบาหวาน…  เราให้ความสำคัญในเรื่องอาหารการกินในแต่ละมื้อ แต่ละวันแล้ว สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือไม่ให้เกิดแผลเล็กๆ น้อยๆ จากการใช้ชีวิตประจำวัน ที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อและทำให้เกิดการลุกลามจนเป็นแผลใหญ่ที่ยากต่อการรักษา หากเกิดแผลในผู้ป่วยเบาหวานแล้ว การดูแลแผลของผู้ป่วยจะต้องเน้นในเรื่องของความสะอาด มากกว่าคนปกติทั่วไป  ดังนั้น… เรามีวิธีดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบง่ายๆ มาฝากกัน…

โรคเบาหวาน… เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นจากผิดปกติของเซลล์ร่างกายที่ไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานได้ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งโดยปกติบุคคลทั่วไปจะมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารมาแล้ว 6 ชั่วโมง ไม่เกิน 126 มก./ดล. ซึ่งหากสูงกว่านี้คุณมีโอกาสที่จะเป็นโรคเบาหวานได้

Advertisement

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน คือ…

1.การมีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักที่มากกว่าปกติ

2.กรรมพันธุ์

Advertisement

3.อายุ ถ้าอายุมากขึ้นทำให้มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้

4.ความดันโลหิตสูง

5.การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ จำพวกน้ำตาล แป้ง และไขมันมากเกินไป

6.ขาดการออกกำลังกาย

สังเกตอาการเบื้องต้นของโรคเบาหวาน คือ

  • ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวัน และกลางคืน
  • กระหายน้ำมากกว่าปกติ
  • น้ำหนักลดลง รู้สึกอ่อนเพลียง่าย
  • มีอาการชาที่ปลายมือและปลายเท้า

และถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อทำการรักษา โรคเบาหวานนอกจากจะเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ยากแล้ว อาจจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรดูแลตนเองให้ดี และป้องกันการเกิดบาดแผลในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพราะเมื่อเป็นแล้วแผลจะหายช้ากว่าปกติ ซึ่งแผลอาจเกิดอาการแทรกซ้อน และนำไปสู่การติดเชื้อและลุกลามจนทำให้เนื้อเยื้อตาย และต้องตัดทิ้งได้

ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเบาหวานเกิดเป็นแผล ควรจะทำความสะอาดแผลด้วยสบู่ โดยใช้น้ำอุ่น  หรือน้ำเกลือ และทำความสะอาดรอบๆบาดแผลด้วยความเบามือ ไม่ควรล้างแผลด้วยแอลกอฮอล์ เพราะมีฤทธิ์ในการทำลายโปรตีนในเนื้อเยื้อได้ จากนั้นเช็ดให้แห้ง ใส่ยาทำแผล และปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลสะอาดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ไม่ควรใช้พลาสเตอร์ปิดแผลโดยตรง และควรทำความสะอาดแผลอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน ซึ่งหากมีแผลมีอาการแดง หรือบวมขึ้นหลังจากทำแผล ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

 การป้องกันการเกิดแผลของผู้ป่วยเบาหวาน

  1. ระมัดระวังไม่ให้เกิดแผลตามส่วนต่างๆ
  2. ควรใส่ถุงเท้าและรองเท้าสำหรับใส่ในบ้าน เพื่อป้องกันการเดินเหยียบหรือเตะสิ่งของ ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลได้
  3. เมื่อเวลาจะใส่รองเท้า ควรเคาะรองเท้าก่อนใส่ เพื่อป้องกันเศษต่างๆในรองเท้า ที่ทำให้เกิดแผลโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานจะมีอาการมือเท้าชา ซึ่งทำให้ไม่รู้สึกเจ็บหากเหยียบ หรือเกิดแผล
  4. การตัดเล็บ ควรตัดเล็บในแนวเส้นตรง ไม่ควรตัวเล็บตามความโค้งของเล็บ เพื่อป้องกันการตัดเข้าโดนเนื้อซึ่งอาจทำให้เกิดแผลได้

ปัจจุบันโรงพยาบาลมีผู้ป่วย โรคเบาหวานประมาณ 2 หมื่นคน รักษาหายน้อยมากส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอ้วนที่มีระดับน้ำตาลไม่สูงมาก และกำลังรักษาประมาณ 1 หมื่น 4 พันคน   ทั้งนี้ โรงพยาบาลมีพื้นที่อำนวยความสะดวกค่อนข้างจำกัด จึงทำให้เกิดความแออัดที่ห้องตรวจอย่างมาก และขณะนี้รพ.กำลังสร้างอาคารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลฯ เพื่อขยายพื้นที่ในการรองรับ และรักษาผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตเมื่ออาคารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลฯ เสร็จก็จะสามารถเปิดรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น และลดระยะเวลาของการรอรับการรักษาของผู้ป่วยได้

ดังนั้น ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมแบ่งปันน้ำใจสมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ผ่านมูลนิธิรพ.ราชวิถี บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา รพ.ราชวิถี ประเภทบัญชี ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 051-2-16322-1 หรือ สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 02–3547997-9 หรือ http://www.rajavithihospitalfoundation.org

………………..

นพ. หลักชัย วิชชาวุธ

นายแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image