ขานรับนโยบาย!!!เปิดศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ นำร่องศูนย์แรกภาคกลางที่ จ.ลพบุรี 

กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดตัวศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่นำร่อง จ.ลพบุรี เป็นศูนย์แรกในเขตภาคกลาง ขานรับนโยบายรัฐบาลด้วยหวังพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่สู่การทำเกษตรยุค 4.0 ได้อย่างมั่นคง

ว่าที่ร้อยตรี ดร.สมสวย ปัญญาสิทธิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากนโยบายการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่โดยการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดละ 1 ศูนย์ ให้ครบทั้ง 77 ศูนย์ ใน 77 จังหวัด ซึ่งขณะนี้ดำเนินการจัดตั้งไปแล้ว 27 ศูนย์ 27 จังหวัด ที่เหลืออีก 50 ศูนย์ 50 จังหวัด อยู่ระหว่างดำเนินการคัดเลือกให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกอบรมวิชาการด้านการเกษตรในแต่ละพื้นที่ ภายใต้เป้าหมายที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้วางไว้คือ ต้องการให้เกษตรกรมีอาชีพเป็นของตนเอง เข้าสู่การรวมกลุ่ม เชื่อมโยงเครือข่ายหรือวิสาหกิจชุมชน และสามารถพัฒนาเป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่สู่ตลาดสากล และมีความเข้มแข็งได้ต่อไป

โดยกรมฯ จะมีการดำเนินงานสนับสนุนทั้งด้านวิชาการความรู้เพิ่มเติม รวมไปถึงงบประมาณบางส่วนที่จะนำมาใช้ในการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาการสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะแต่ละพื้นที่ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดปัจจุบันได้ รวมถึงสนับสนุนให้ศูนย์ดังกล่าวยังเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าเกษตรของเกษตรกรรุ่นใหม่และเครือข่ายเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ภายใต้หลักคิดตลาดนำการผลิตในพื้นที่อีกด้วย

Advertisement

นายไพศาล สังข์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1จังหวัดชัยนาท กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องการดูแลลูกหลานของเกษตรกร โดยการพัฒนาและสร้างคนรุ่นใหม่เข้าสู่เกษตรยุคใหม่ ผลิตเกษตรกรและชาวนารุ่นใหม่ให้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือ การบริหารจัดการและขับเคลื่อนชุมชน โดยมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่ มีความรู้ความสามารถในการทำการเกษตร ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการเกษตร การพึ่งพาตนเอง และการแข่งขันทางการค้าในอนาคต โดยการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer จัดกระบวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาตนเอง เชื่อมโยงจนเกิดเครือข่าย Young Smart Farmer ทุกภาคของประเทศ

โดยในส่วนของ สสก.เขต 1 ซึ่งรับผิดชอบ 9 จังหวัดในภาคกลาง ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่อย่างเต็มรูปแบบ มาตั้งแต่ปี 2557 ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสร้างเครือข่าย โดยให้เกษตรกรเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง” โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็น “ผู้จัดการเรียนรู้”  เพื่อพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้สามารถทดแทนเกษตรกรที่สูงอายุ สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่มาประกอบอาชีพด้านการเกษตรมากขึ้น ผ่านการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ โดยในปี 2557 มีเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคกลางจำนวน 236 คน และได้ขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นในปี 2560 เป็น 910 คน สามารถเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรม เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ สินค้ามีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน มีตลาดรองรับแน่นอนหลากหลายช่องทาง เช่น องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ตลาดเกษตรกร ตลาดค้าส่ง ตลาดค้าปลีกชุมชน และตลาดออนไลน์

Advertisement

 

สำหรับการดำเนินงานในปี 2561 ได้ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยใช้เครือข่าย Young Smart Farmer  เป็นกลไกในการขับเคลื่อน ผ่านการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมโยงปัจจัยการผลิต องค์ความรู้ พัฒนาเข้าสู่ภาคธุรกิจเกษตร โดยการพิจารณาพื้นที่ ที่มีศักยภาพเป็นศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่นำร่องภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดลพบุรี ให้เป็นศูนย์ต้นแบบในการขับเคลื่อนศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ อีก 8 จุด ในพื้นที่ภาคกลาง รวมทั้งเป็นต้นแบบของยุวเกษตรกร โดยเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเกษตรและสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ผู้ประกอบการเกษตรได้ มุ่งเน้นให้เป็นศูนย์ที่พัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรเป็นผู้นำด้านการเกษตร 4.0 มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรม และหลักการธุรกิจเกษตร เป็นแหล่งรวบรวมฐานข้อมูล เป็นศูนย์กลางการประสานงานเครือข่ายเกษตรกร เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสร้างทายาทเกษตรกร เป็นต้นแบบของยุวเกษตรกร และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

“ทั้งนี้ศูนย์บ่มเพาะแห่งแรกของภาคกลางที่จัดตั้งขึ้นใน จ.ลพบุรี แห่งนี้ที่นอกจากเป็นการนำร่องเป็นศูนย์ฯ แรกที่จัดตั้งขึ้นในภาคกลางแล้ว ที่เลือกพื้นที่นี้เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งในระดับชุมชน สามารถเป็นศูนย์ต้นแบบที่มีเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายถึง 10 ด้าน มีการการดำเนินงานพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่อง และมีจุดเด่นในเรื่องของการนำศาสตร์พระราชาสอดแทรกเข้าไป ทำให้การดำเนินงานมีความสอดคล้องกับวิถีชุมชนที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่ให้มีความยั่งยืนต่อไปได้” นายไพศาล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image