จากอดีตสู่ปัจจุบัน ‘เอราวัณ’ สร้างอนาคตประเทศไทย

เอราวัณ” แหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกในอ่าวไทย ทำหน้าที่ผลิตก๊าซฯเพื่อเป็นเชื้อเพลิงให้แก่ภาคการผลิตกระแสไฟฟ้า และภาคการขนส่ง รวมถึงเป็นเชื้อเพลิงหุงต้มในภาคครัวเรือน และเป็นวัตถุดิบให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ นับจากวันแรกที่สามารถนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณขึ้นมาใช้ เปิดศักราชการพัฒนาเศรษฐกิจให้ประเทศไทย จนถึงวันนี้ นับเป็นเวลากว่า 36 ปีแล้ว ที่ “แหล่งเอราวัณ” ได้ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองสำคัญสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย

เปิดประตูสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล

การค้นพบและสามารถนำก๊าซธรรมชาติจากท้องทะเลอ่าวไทยขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นครั้งแรกที่แหล่งเอราวัณ ช่วยให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้มากขึ้น และลดปริมาณการนำเข้าพลังงานลงได้ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศเข้าสู่ยุค “โชติช่วงชัชวาล”

หลังจากที่บริษัท ยูเนียนออยล์ออฟไทยแลนด์ จำกัด ปัจจุบันคือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางอ่าวไทยเมื่อปี 2511 และได้ดำเนินการสำรวจเรื่อยมาจนกระทั่ง 17 สิงหาคม ปี 2524 จึงได้เริ่มมีการผลิตและซื้อขายก๊าซธรรมชาติเป็นครั้งแรกที่แหล่งเอราวัณ ด้วยปริมาณ 35 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันซึ่งนับเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของไทยที่มีปริมาณมากเพียงพอต่อการผลิตอย่างคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ โดยก๊าซธรรมชาติจากก้นทะเลอ่าวไทยที่ถูกค้นพบถูกนำส่งขึ้นฝั่งจังหวัดระยองผ่านท่อส่งก๊าซใต้นํ้ายาว 425 กิโลเมตร เรียกว่ายาวที่สุดของโลกในเวลานั้น

Advertisement

แต่เมื่อเริ่มกระบวนการผลิตไประยะหนึ่งแล้ว จากเดิมที่คาดหวังว่าแหล่งกักเก็บก๊าซธรรมชาติแห่งนี้ จะต่อเนื่องกันเป็นแอ่งขนาดใหญ่ กลับพบว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณมีน้อยกว่าที่คาดคะเนไว้ และโครงสร้างแหล่งกักเก็บก๊าซมีลักษณะเป็นกระเปาะเล็กๆ จำนวนมาก อยู่กระจัดกระจายกันไป อันเป็นผลจากการเคลื่อนตัวของชั้นหินใต้พื้นพิภพ จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาแหล่งเอราวัณ ให้เหมาะสมกับลักษณะธรณีวิทยาของอ่าวไทยดังกล่าว ด้วยวิธีการติดตั้งแท่นหลุมผลิตก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก กระจายออกไปตามตำแหน่งของหลุมหรือกระเปาะกักเก็บก๊าซฯ ทั้งหลายนั้น แล้วส่งก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อใต้น้ำ มารวมกันยังแท่นผลิตกลาง นับว่าไม่ง่ายเลยที่จะนำทรัพยากรอันมีค่านี้ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ด้วยเหตุนี้แหล่งเอราวัณจึงมีความสำคัญในฐานะแหล่งบุกเบิกและสั่งสมองค์ความรู้ด้านปิโตรเลียมของประเทศอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิคการสำรวจและขุดเจาะหลุมผลิตปิโตรเลียมที่เหมาะสมกับสภาพธรณีวิทยาของอ่าวไทย การนำระบบต่างๆ เข้ามาใช้จัดการเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย การรวบรวมสถิติ วิเคราะห์และเรียนรู้จากอุบัติการณ์ต่างๆ ตลอดจนการตรวจสอบแท่นผลิตปิโตรเลียม อุปกรณ์ และท่อก๊าซ เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและทํางานได้อย่างปลอดภัย เหล่านี้เป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้การทํางานต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

ความท้าทายครั้งใหม่

จากวันที่เริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติครั้งแรกเมื่อ 36 ปีที่แล้ว เชฟรอนประเทศไทยได้พัฒนาการทำงานทุกขั้นตอนเพื่อรับมือกับทุกความท้าทายในการผลิตก๊าซธรรมชาติ ด้วยมีมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมสูงสุด จนกระทั่งวันนี้เชฟรอนประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซฯ ในประเทศได้มากกว่า 1 ใน 3 ใช้เงินลงทุนและสร้างรายได้ในรูปของค่าภาคหลวงให้กับประเทศรวมมูลค่ารวมแล้ว กว่า 1.8 ล้านล้านบาท สร้างการจ้างงานในประเทศอีกจำนวนมาก และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตลอดกว่า 3 ทศวรรษ

Advertisement

วันนี้ แหล่งเอราวัณกำลังจะหมดอายุสัมปทานลงในปี 2565 หรืออีกเพียง 4 ปี นับจากนี้ ภาครัฐจึงต้องเร่งหาผู้เข้ามาบริหารการผลิตก๊าซธรรมชาติให้เกิดความต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยรัฐบาลได้เปิดประมูลแหล่งเอราวัณนี้ภายใต้ระบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขี้นมาก่อนในประเทศไทย นั่นคือระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC หลังจากใช้ระบบสัมปทานมานาน ซึ่งหากรัฐบาลสามารถดำเนินการจัดประมูลตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่กำหนด จนสามารถได้ผู้ชนะเข้าบริหารแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกในอ่าวไทยตามกรอบเวลา คือในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 ก็เชื่อว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณจะยังเป็นแหล่งพลังงานที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยไปได้อีกหลายสิบปี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image