ศึกษาธิการนครพนม ยันอาหารกลางวันเด็กนักเรียนหัวละ 20 บ.เพียงพอ

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่โรงเรียนชุมชนนามนวิทยาคาร ต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม นายปริญญา ธรเสนา ศึกษาธิการจังหวัดนครพนม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามปัญหาโครงการอาหารกลางวัน เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันของโรงเรียนในสังกัดกว่า 500 แห่ง พร้อมกำชับให้โรงเรียนทุกแห่ง หมั่นตรวจสอบดูแลในการบริหารจัดการอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียน ไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลน โดยจากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุดยังไม่พบว่ามีโรงเรียนที่ประสบปัญหา ยืนยันว่างบประมาณรายหัวนักเรียนคนละ 20 บาทเพียงพอ

นายปริญญากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนในสังกัดได้ส่งเสริมนักเรียนให้ใช้เวลาว่างจากการเรียนการสอน จัดทำแปลงเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัว รวมถึงเลี้ยงสัตว์ อาทิ ไก่ไข่ เลี้ยงปลา ไว้สนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน เช่นเดียวกันกับโรงเรียนชุมชนนามนวิทยาคาร ต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ 200 คน ถือเป็นโรงเรียนต้นแบบที่มีการบริหารจัดการอาหารกลางวันที่ดี ทำให้นักเรียนได้รับประทานอาหารได้ถึง 2 มื้อ ทั้งมื้อเช้า และมื้อเที่ยง เนื่องจากมีผลผลิตจากสวนเกษตรพอเพียง รวมถึงมีชุมชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ นำอาหารมาสมทบทุกวัน และเด็กนักเรียนได้มีโอกาสรับประทานอาหารเป็นเมนูที่หลากหลาย ปรับเปลี่ยนทุกวัน

ด้าน นายปริญญากล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ จ.นครพนม ทางศึกษาธิการได้ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่ ได้ตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ ตรวจสอบ ติดตามปัญหาโครงการอาหารกลางวันทุกแห่ง รวมกว่า 500 แห่งทั้งจังหวัด พร้อมนำมาสรุปประเมินหาทางแก้ไขในส่วนที่มีปัญหา เบื้องต้นพบว่ายังไม่พบปัญหา ยืนยันงบประมาณคนละ 20 บาทนั้นเพียงพอ สามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งมีหลายแห่งสามารถบริหารจัดการได้ดี สามารถเพิ่มอาหารมื้อเช้าไว้รับประทานด้วย ส่วนหนึ่งมาจากผู้นำชุมชน ท้องถิ่นได้มาสนับสนุนนำวัตถุดิบมาช่วยเหลือ นอกจากนี้ได้กำชับให้ทุกโรงเรียนหมั่นตรวจสอบดูแลเอาใจใส่นักเรียนให้ได้รับประทานอาหารที่เพียงพอครบ 5 หมู่ สะอาดปลอดภัย และหลากหลายไม่จำเจ

ที่สำคัญยังได้ร่วมหารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสนับสนุนงบประมาณจัดโครงการอาหารกลางวัน เพื่อนำผลผลิตมาสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ โดยหากเป็นไปได้ในงบประมาณจำนวน 20 บาทต่อหัว หากมีการเพิ่มเติมอีก จะเป็นเรื่องดีสำหรับเด็กนักเรียน เพราะทุกวันนี้สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคแพง แต่หากเป็นไปไม่ได้โรงเรียนจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี จะได้ไม่เกิดปัญหาขาดแคลน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image