รมช.เกษตรฯ ลงพื้นที่จ.เชียงใหม่ พร้อมมอบนโยบายโครงการส่งน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำปิง

รมช.เกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.เชียงใหม่ รับฟังบรรยายสรุปโครงการส่งน้ำฯในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 1

วันนี้ (22 มิถุนายน) ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบนโยบายและรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 1 ผลความคืบหน้างานขับเคลื่อนโครงการระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชาในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปิง รวมทั้งผลการดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยในพื้นที่ โดยมีผู้แทนในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยในพื้นที่เข้าร่วม และสมาคมผู้ใช้น้ำแม่แตง ร่วมให้การต้อนรับ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ตำบลแม่แตง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 1 ประกอบด้วย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ลักษณะหัวงานโครงการเป็นฝายหินก่อ ความยาว 80 เมตร ความสูง 2.50 เมตร ปริมาณน้ำผ่านฝายสูงสุด 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีพื้นที่ชลประทาน 99,298 ไร่ มีกลุ่มบริหารการใช้น้ำ จำนวน 14 กลุ่ม สมาชิก 16,187 ราย มีคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) จำนวน 1 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ทั้งโครงการฯ ในช่วงฤดูแล้งมีการเพาะปลูก 46,000 ไร่ โดยปลูกข้าวนาปรัง 15,000 ไร่ และช่วงฤดูฝนมีการเพาะปลูกเต็มพื้นที่ 96,500 ไร่ โดยเป็นการเพาะปลูกข้าวนาปี 65,800 ไร่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล มีหัวงานที่สำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ ฝายสินธุกิจปรีชา ลักษณะหัวงานโครงการเป็นฝายหินก่อแกนดินเหนียว มีสันฝายลักษณะ Board Crest ความยาว 89.30 เมตร ความสูง3.10 เมตร และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ลักษณะหัวงานโครงการเป็นเขื่อนดิน ความสูง 59 เมตร ความยาว 1,950 เมตร สันเขื่อนกว้าง 9 เมตร มีความจุที่ระดับเก็บกัก 265 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทานทั้งสองหัวงาน ประมาณ 73,400 ไร่ โดยมีกลุ่มบริหารการใช้น้ำ จำนวน 4 กลุ่ม สมาชิก 4,925 ราย มีคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) จำนวน 3กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ทั้งโครงการฯ ในช่วงฤดูแล้งมีการเพาะปลูก 69,655 ไร่ โดยปลูกข้าวนาปรัง 33,771 ไร่ และช่วงฤดูฝนมีการเพาะปลูกเต็มพื้นที่ 73,400 ไร่ โดยปลูกข้าวนาปี 40,215 ไร่

ในส่วนของผลการขับเคลื่อนโครงการระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชาในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปิง มีพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่ตำบลกองแขก ตำบลบ้านทับ ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรด้วยการสร้างความมั่นคงในที่ดินทำกิน สร้างป่า สร้างรายได้ ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หยุดการเผาป่าเพื่อแห้ปัญหาหมอกควัน มุ่งสู่การเป็นชุมชนต้นแบบ และพื้นที่ตำบลโป่งแกง อำเภอเมือง จังหวัดตาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากทุกปี ราษฎรร้องขอให้มีการศึกษาการผันน้ำจากเขื่อนแม่ปิงตอนล่าง ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำสูบกลับอยู่ด้านท้ายน้ำของเขื่อนภูมิพล เพื่อมาช่วยเหลือพื้นที่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา การเลือกพื้นที่นำร่องจึงเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในเบื้องต้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการโครงการพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชา โคก หนองนา โมเดล โดยนำร่องในพื้นที่ 5 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำปราจีนบุรี(ห้วยโสมง) และลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งในส่วนของกรมชลประทานรับผิดชอบในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี (ห้วยโสมง) และลุ่มน้ำป่าสัก เพื่อให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้และเข้าใจในศาสตร์พระราชา และสามารถประยุกต์ใช้ร่วมกันพัฒนาการเกษตรให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืนต่อไป

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image